สรุปผลการไปศึกษาดูงานคณะอนุกรรมาธิการ กีฬามวลชน กีฬาพื้นบ้าน กีฬาทหาร และตำรวจ วันที่ ๑-๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ ณ จังหวัดชลบุรี
สรุปผลการไปศึกษาดูงานคณะอนุกรรมาธิการ กีฬามวลชน กีฬาพื้นบ้าน กีฬาทหาร และตำรวจ วันที่ ๑-๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ ณ จังหวัดชลบุรีวันพฤหัสที่ ๑ ก.ย. ๕๔
องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี
นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี (อบจ.ชลบุรี) ได้ให้การต้อนรับพลเอก เกษมศักด์ ปลูกสวัสดิ์ และคณะ ในการไปศึกษาดูงานด้านกิจการกีฬา อบจ.ชลบุรี สรุปสาระและประเด็นสำคัญได้ดังนี้
โครงสร้าง อบจ.ชลบุรี ประกอบด้วย นายก อบจ. ๑ คน รองนายก อบจ. ๓ คน ที่ปรึกษา และเลขาฯ ๕ คน และสมาชิกสภา อบจ. ๓๖ คน มีส่วนราชการที่รับผิดชอบกิจการด้านการกีฬาได้แก่ กองท่องเที่ยวและกีฬา มีอัตรากำลังบุคลากร ประกอบด้วย ข้าราชการ,ลูกจ้างประจำ, ข้าราชการครูและพนักงานจ้าง รวม ๘๗๓ คน มีงบประมาณรายรับ รวม๒,๐๖๔,๐๒๖,๕๙๗.๓๗ บาท งบประมาณรายจ่าย รวม ๑,๙๗๕,๖๐๒,๘๓๘.๓๒ บาท
วิสัยทัศน์ขององค์กร “ เป็นองค์กรยุคใหม่ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชน การศึกษามีความก้าวหน้า เศรษฐกิจมั่งคง เป็นศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยวและกีฬา”
การดำเนินงานด้านการกีฬา ปฏิบัติตามนโยบาย ด้านที่ ๒ สังคม การศึกษาและสาธารณสุข ข้อที่ ๕ ส่งเสริมการศึกษา เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตามแนวทางแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๔)ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ที่ ๑ ขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การแข่งขัน กีฬานักเรียนจังหวัดชลบุรี, การแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ
- ยุทธศาสตร์ที่ ๒ กีฬาเพื่อมวลชน ได้แก่ การเล่นกีฬาพื้นบ้านเช่น เปตอง ตะกร้อ เป็นต้น ,ให้การสนับสนุนชมรมกีฬาต่างๆในจังหวัดและ กีฬาสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภาคกลาง
- ยุทธศาสตร์ที่ ๓ กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ให้การสนับสนุนชมรมกีฬาต่างๆในจังหวัด
- ยุทธศาสตร์ที่ ๔ กีฬาเพื่อการอาชีพ ภายในจังหวัดสนับสนุนกีฬาอาชีพ ๔ ชนิดกีฬาได้แก่ ฟุตบอล,ตระกร้อ,วอลเลย์บอลและกอล์ฟ เริ่มพัฒนาตั้งแต่ระดับรากหญ้า สู่ระดับเชี่ยวชาญและสูงสุด ในโรงเรียน อบจ. ,อบต., เทศบาล,สมาคมกีฬาจังหวัดและสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ตามลำดับ โดยจัดการแข่งขันในระดับจังหวัด,ชิงแชมป์ภาคและกีฬาแห่งชาติ
ภายในจังหวัดมีองค์กรภาคีกีฬา สำหรับการขับเคลื่อนได้แก่ จังหวัดชลบุรี,การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดชลบุรีสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี,สมาคมกีฬาจังหวัดชลบุรี และองค์กรอื่นๆ
การอุดหนุนงบประมาณด้านการกีฬา ประจำปี ๒๕๕๔
สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาชลบุรี เขต ๑
- โครงการแข่งขันกีฬานักเรียนจังหวัดชลบุรี ปีการศึกษา ๒๕๕๓ โรงเรียนชลราษฎรอำรุง
- โครงการส่งเสริมพัฒนากีฬาฟุตบอลช้างเผือก เทศบาลเมืองบ้านบึง
- โครงการก่อสร้างศูนย์กีฬาและนันทนาการเฉลิมพระเกียรติฯ เทศบาลบางพระ
- โครงการก่อสร้างสนามกีฬานันทนาการและศูนย์การเรียนรู้เทศบาลตำบลบางพระ
การจัดกิจกรรมกีฬาต่างๆภายในจังหวัดที่ผ่านมา
- จัดการแข่งขัน ฟุตบอลควีนส์คัพ รอบชิงชนะเลิศ
- จัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ ๓๙
- สนับสนุนสถานที่ ในการจัดการแข่งขันยกน้ำหนัก
- จัดพิธีมอบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลให้นักกีฬาที่มีผลงานดีเด่น
- สนับสนุนการแข่งขันกอล์ฟร่วมกับชมรมกอล์ฟของจังหวัด
- สนับสนุนการแข่งขันกอล์ฟไทยแลนด์ลีก
- ร่วมจัดการแข่งขันฟุตบอล “ชลบุรี “
- การแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร และกีฬามวลชน เช่น ทีมฟุตบอล วีไอพี ชลบุรี
- ร่วมกับสมาคมกีฬาจังหวัดชลบุรีจัดการแข่งขันกีฬาระดับอำเภอ
ปัญหาและอุปสรรค
ประชากรในจังหวัดชลบุรี มีจำนวนมาก ทั้งประชากรหลัก ประชากรแฝง มีรายได้ต่อหัว ประมาณ ๔ แสนบาทเศษต่อปี ประสพปัญหาหลักได้แก่ ระบบการขนส่ง, การขาดแคลนแหล่งน้ำและปัญหาสังคมโดยเฉพาะในเรื่องสำคัญ ได้แก่ ภัยจากยาเสพติด โดยทางจังหวัดได้ กวดขันทำการ ปราบปรามและจับกุมมาโดยตลอด และทางด้านการป้องกัน ได้นำเรื่องการกีฬามาเป็นตัวนำ มุ่งสนับสนุนให้ประชาชนได้เล่นกีฬา และพัฒนา ส่งเสริม สู่ความเป็นเลิศและเป็นนักกีฬาอาชีพต่อไป ตามสโลแกน “ เมืองชล คนกีฬา ”
สมาคมฟุตบอลจังหวัดชลบุรี
นายวิทยา คุณปลื้ม นายกสมาคมฟุตบอลจังหวัดชลบุรี และนายธนศักดิ์ สุระประเสริฐ เลขาธิการฯ ได้ให้การต้อนรับ พลเอก เกษมศักด์ ปลูกสวัสดิ์ และคณะ ในการไปศึกษาดูงานด้านกิจการกีฬา โครงสร้างการพัฒนาฟุตบอลในระดับรากหญ้าและเยาวชน ของสมาคมฟุตบอลจังหวัดชลบุรี สรุปสาระและประเด็นสำคัญได้ดังนี้
การสร้างนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ ๑ คน ต้องใช้ทรัพยากร จำนวนมาก ในการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นโค้ช เป็นนักกายภาพ นักโภชนาการ ทีมงาน นักจิตวิทยา,ครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด และงบประมาณ และเช่นกัน การสร้างทีมฟุตบอลอาชีพหนึ่งทีม ยิ่งจะต้องมีผู้เกี่ยวข้องอีก จำนวนมาก ไม่ว่าจะทีมงานบริหาร ทีมงานธุรการ บัญชี กฎหมาย ทีมพัฒนาเทคนิค ทีมเยาวชน ทีมการตลาด การประชาสัมพันธ์ ทีมงานดูแลสนาม
แนวคิดของชลบุรี คือนักเตะไทยมีความสามารถ นักเตะไทยต้องได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้อง นักเตะต้องได้รับโอกาสในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์
ภารกิจ ได้แก่ ทำทีมฟุตบอลสัญชาติไทย พัฒนานักฟุตบอลและ เยาวชน สู่ความเป็นผู้เล่นอาชีพ เป็นผู้นำวงการฟุตบอลไทยสู่เวทีระดับโลก
ความเป็นมาของอเคเดมี่ชลบุรี เกิดจากผู้บริหารที่เป็นศิษย์เก่า โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา นำโดยคุณสนธยา คุณปลื้มและพวก มีความตั้งใจที่จะต้องการพัฒนากีฬาฟุตบอลในจังหวัดชลบุรี จุดเด่นของอเคเดมี่ชลบุรี คือบริหารโดยทีมงานและผู้บริหารที่มีประสบการณ์ รักในกีฬาฟุตบอลและการสร้างคน ทุกๆคนมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา ทั้งในด้านการบริหาร และด้านเทคนิค
ประเภทของอเคเดมี มี ๓ แบบ ได้แก่
๑. ระบบโรงเรียนพันธมิตร เน้นโรงเรียนสามัญ ทำฟุตบอลเพื่อชื่อเสียง เพื่อความเป็นเลิศของสถาบัน เป็นแหล่งคัดนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ของแต่ละรุ่น
ข้อดี
- ได้นักเตะระดับอุดมศึกษาที่มีความสามารถอย่างรวดเร็ว
- มีการแข่งขันในระดับฯเพื่อเฟ้นหาและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้มาก
- สามารถดึงเข้าไปเล่นชุดใหญ่ของสโมสรได้ทันที
ข้อเสีย
- ผู้เล่นที่ไม่สามารถขึ้นสู่ชุดใหญ่ หรือเข้าสู่ระบบสโมสรอาชีพได้ จะเลิกเล่นฟุตบอล หรือ หมดความสนใจในการเป็นนักฟุตบอล ไป ประกอบอาชีพอื่นๆ นักเตะจะหายไปจากสาระบบฟุตบอลของไทยกว่า ๙๐% จากระบบนี้
๒. ระบบอะเคเดมีเต็มรูปแบบ พัฒนาผู้เล่นตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อ เป็นนักเตะอาชีพโดยเฉพาะ สโมสรจะสนับสนุนการศึกษาและที่พัก ฝึกซ้อม และส่งแข่งขัน ความหวังสูงสุดคือพัฒนาให้ผู้เล่นไปสู่ระดับโลก
ข้อดี
- ผู้เล่นจะได้รับการฝึกฝนอย่างถูกวิธี เพื่อพัฒนาตัวเองให้พร้อมกับระบบอาชีพ
เตรียมพร้อมในการก้าวสู่ระดับสากล
- เยาวชนจะมีเป้าหมายของตนเองที่ชัดเจน และตั้งใจที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
ข้อเสีย
- ใช้เวลานาน การพัฒนาที่เห็นผลได้ช้ากว่า
- ต้องอาศัยความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
๓. โรงเรียนฟุตบอลชลบุรี แบบเน้นเพื่อสร้างบุคลากร ฟุตบอล เพื่อต่อยอดให้เยาวชนสามารถเติบโตมาทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลอื่นๆด้วย เช่น การจัดการแข่งขัน โค้ช กรรมการ การบริหารสโมสรฟุตบอล
ข้อดี
- เป็นการสร้างบุคลากรที่จะพัฒนาฟุตบอลอย่างยั่งยืน และหลากหลายในทุกๆภาคส่วน
- เน้นรูปแบบด้านการบริหารจัดการ
- สามารถต่อยอดไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น หรือเรียนต่อในสายอาชีพอื่นๆ
ข้อเสีย
- ใช้งบประมาณสูง และใช้บุคลากรจำนวนมาก
ผลงานของอเคเดมี่ เป็นผู้เล่นที่ได้รับการฝึกฝนจากเยาวชนของสโมสร จนเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังหลักของทีมสโมสรชลบุรี เอฟซี และทีมชาติได้อย่างต่อเนื่อง ผู้เล่นจากอเคเดมี่ของ ชลบุรี เป็นนักเตะที่มีความเป็นมืออาชีพและมีความสามารถที่สามารถเล่นในระดับลีกฟุตบอลชั้นนำของโลกได้
วิชั่นไทยแลนด์ ชลบุรีโปรเจค
ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับเลือกให้อยู่ในโครงการวิชั่นเอเชีย ภายใต้ชื่อ วิชั่นไทยแลนด ์ (Vision Thailand) โดยใช้ จังหวัดชลบุรีเป็นที่แห่งแรก ตามมาด้วยจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดภูเก็ตเป็นฐานของโครงการ
ระยะที่ 1 ค.ศ. ๒๐๐๘ – ๒๐๑๐ เน้น องค์กรบริหาร และ ผู้ฝึกสอน
สมาคมฟุตบอล จังหวัดชลบุรี มีหน้าที่เสมือนสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย แต่มีอำนาจ หน้าที่ดูแลการพัฒนาเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชลบุรี สามารถ จัดการแข่งขันที่ได้มาตรฐานของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย พัฒนาผู้ฝึกสอน นักฟุตบอล ผู้ตัดสิน สร้างบุคลากร สร้างอาชีพในด้านต่างๆ เพื่อป้อนสู่วงการฟุตบอล
หลักสูตรที่ทาง สมาคมฟุตบอลจังหวัดชลบุรี(CFA) สามารถเปิดสอนได้และออก
license ของ AFC ได้อย่างถูกต้อง
๑. หลักสูตรสอบรมผู้ควบคุมการแข่งขัน (Match Commissioner)
๒. หลักสูตรสอบรมผู้ตัดสิน
๓. หลักสูตรอบรมผู้ฝึกสอน Coaching License
- ผู้ฝึกสอน AFC A, B, C license
- ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู AFC level 1, 2, 3
- ผู้ฝึกสอนด้านกายภาพ
- ผู้ฝึกสอนฟุตซอล AFC level 1, 2
ใบอนุญาตที่เป็นมาตรฐานของเอเอฟซีโดยตรง และสามารถนำไปใช้ได้ตามมาตรฐาน
ระยะที่ 2 ค.ศ ๒๐๑๐ - ๒๐๑๑ จัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ Vision Chonburi League มีทีมส่งเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน ๘ ทีม
ระยะที่ 3 ค.ศ. ๒๐๑๑ - ๒๐๑๒ เน้น เยาวชนในระดับรากหญ้า จัดพัฒนาฝึกสอน และจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพระดับรากหญ้า ได้แก่ ผู้ฝึกสอนฟุตบอลระดับรากหญ้า D License c และการแข่งขันฟุตบอลลีก โรงเรียน
ข้อคิดเห็นคณะอนุกรรมาธิการฯ ควรมีหลักสูตร เกี่ยวกับ การพัฒนาและส่งเสริม การชมและเชียร์ของแฟนบอลเพื่อไมให้เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างแฟนบอล
วันศุกร์ที่ ๒ ก.ย.๕๔
เมืองพัทยา
นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้ให้การต้อนรับ พลเอก เกษมศักด์ ปลูกสวัสดิ์ และคณะ ในการไปศึกษาดูงาน ด้านกิจการกีฬาเมืองพัทยา สรุปสาระและประเด็นสำคัญได้ดังนี้
เมืองพัทยาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการกีฬาที่จะสร้างชื่อเสียง และมูลค่าเพิ่ม จึงได้บรรจุ แผนงานด้านการกีฬา ไว้ในงบประมาณประจำปี และบางส่วนอยู่นอกแผนงาน การดำเนินงานด้านการกีฬาได้รับการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน โดย เมืองพัทยา มีนายกเมืองพัทยาและรองนายกเมืองพัทยาที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ สภาเมืองพัทยาได้ให้การสนับสนุนทางด้านงบประมาณในการพัฒนาและปรับปรุงสนามกีฬา และ แต่งตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา จำนวน ๕ คน เป็นคณะกรรมาธิการด้านการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อสนับสนุนให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวก และกำกับดูแล รวมทั้งแต่งตั้งที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา ด้านการท่องเที่ยวและกีฬามีหน่วยงานที่รับผิดชอบการกีฬาของเมืองพัทยา ได้แก่
๑. สำนักการศึกษา งานกีฬาและนันทนาการ ฝ่ายกิจกรรมเด็กและเยาวชน
- โครงการแข่งขันกีฬาประชาชนเมืองพัทยา ได้แก่ จัดกิจกรรมกีฬาสากลให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ,ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา ที่จัดการแข่งขันในประเทศไทย,ร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬา”ไทคัพ”และแข่งขันกีฬานักเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- โครงการแข่งขันกีฬานักเรียนสังกัดเมืองพัทยา แต่ละชนิดกีฬา
- โครงการแข่งขันกีฬาอนุบาลเมืองพัทยา มีจำนวน ๑๐ โรงเรียน
สำหรับ โรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยา จัดให้มีการเรียนการสอน วิชาพลศึกษาทุกระดับชั้น , จัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาภายในโรงเรียน ,เป็นศูนย์เยาวชนย่อย ให้บริการด้านออกกำลังกายและสนามกีฬาให้ประชาชนมาใช้บริการ , สนับสนุนบุคลากรและสถานที่ในการจัดกิจกรรมแก่หน่วยงานอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้โรงเรียนเมืองพัทยา ทั้ง ๑๑ แห่ง ส่งเสริมความเป็นความเป็นเลิศในแต่ละชนิดกีฬา
๒. สำนักปลัดเมืองพัทยา
- จัดโครงการกีฬาสัมพันธ์ ระหว่าง ผู้บริหาร และพนักงานในสังกัดเมืองพัทยา มีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน
- โครงการจัดการแข่งขันวิ่งพัทยามาราธอน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้ง การแข่งขัน เทนนิส ptt พัทยาโอเพ่น และเจตสกี
๓. สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมกีฬา และการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ไทเก็ก รำกระบอง เป็นต้น ,กิจกรรม ทู บี นัมเบอร์ วัน และกิจกรรมแอโรบิคภายในลานกีฬา รวมทั้งให้บริการ เจ้าหน้าที่พยาบาลประจำสนาม
๔. กองสวัสดิการสังคม จัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาชุมชน อาสาสมัครสัมพันธ์ และส่งเสริมการออกกำลังกายในชุมชนเมือง ซึ่งปัจจุบันมี ๓๖ ชุมชน
๕. สำนักงานเมืองพัทยา สาขาเกาะล้าน จัดกิจกรรมกีฬาต่างๆและส่งเสริมการออกกำลังกาย
๖. ภาคเอกชน จัดกิจกรรมกีฬาของสโมสรและร่วมกิจกรรมอื่นๆ กับเมืองพัทยา ภายในเมืองพัทยา มีสนามมวย ๒ แห่ง มีการจัดการแข่งขัน โดยตลอด
สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยจากยาเสพติด เมืองพัทยาใช้การจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาในประเภทชนิดกีฬาที่จัดการแข่งได้ง่าย เช่น ฟุตบอล เป็นต้น
ปัญหาและอุปสรรค
- งบประมาณไม่เพียงพอ เนื่องจากมีหน่วยงานร้องขอจำนวนมาก บางครั้งเป็นกรณีเร่งด่วน ไม่สามารถวางแผนด้านงบประมาณได้ ทำให้ตอบสนองหน่วยงานต่างๆไม่ครบถ้วน การแก้ปัญหาโดยจัดงบประมาณแยกเป็นหมวดเงินอุดหนุนเพื่อความอ่อนตัวในการใช้ รวมทั้งการสับเปลี่ยน รายการงบประมาณ
- ขอบเขตอำนาจหน้าที่ ไม่ครอบคลุมทุกเรื่อง เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบาย ต้องอาศัยขอความร่วมมือ
ข้อคิดเห็นคณะอนุกรรมาธิการฯ
- ประชากรในเมืองพัทยา มีจำนวนมากมาย หลากหลายเชื้อชาติ ทั้งประชากรหลัก ประชากรแฝง มีทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบอาชีพจากต่างถิ่น ประสพปัญหาสังคม หลายเรื่อง การดูแลงานบริการด้านการกีฬา เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้ อาจกระทำไม่ทั่วถึง
- การให้การสนับสนุน กีฬาคนพิการ ทั้งทางด้าน งบประมาณ แก่ โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ ที่ทำชื่อเสียงให้แก่เมืองพัทยามาโดยตลอด
ฐานทัพเรือสัตหีบ
พลเรือโท ชัชรินทร์ ชูศรี ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ ได้ให้การต้อนรับ พลเอก เกษมศักด์ ปลูกสวัสดิ์ และคณะ ในการไปศึกษาดูงาน ด้านกิจการกีฬา ฐานทัพเรือสัตหีบ สรุปสาระและประเด็นสำคัญได้ดังนี้
นโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ “ นโยบายทั่วไป พัฒนาส่งเสริมการสร้างศูนย์กีฬาครบวงจรในพื้นที่หลักของกองทัพเรือ เพื่อส่งเสริมสุขภาพข้าราชการและเป็นสวัสดิการกำลังพล ”
นโยบายผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ “ นโยบายทั่วไป พัฒนาและส่งเสริมการสร้างศูนย์กีฬาครบวงจรในพื้นที่ สัตหีบ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและเป็นสวัสดิการให้แก่กำลังพลกองทัพเรือในพื้นที่สัตหีบ”
ภารกิจหน้าที่ฐานทัพเรือสัตหีบ
ฐานทัพเรือสัตหีบมีภารกิจหน้าที่ในการดำเนินงานในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของ การดำเนินงานด้านการสวัสดิการให้กับหน่วยทหารเรือในพื้นที่ที่ภาคตะวันออก รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนด้านการกีฬา
การดำเนินงานด้านการกีฬาของฐานทัพเรือสัตหีบ
มีหน้าที่ในการพัฒนาส่งเสริมการสร้างศูนย์กีฬาครบวงจรในพื้นที่สัตหีบ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและเป็นสวัสดิการให้แก่กำลังพลกองทัพเรือในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจหน้าที่หลักของฐานทัพเรือสัตหีบ ในด้านการสวัสดิการฐานทัพเรือสัตหีบ ได้ให้ความสำคัญกับการกีฬาเป็นอย่างมาก โดยได้พัฒนาปรับปรุงสนามกีฬาที่มีอยู่ตลอดจนอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามกีฬา สามารถให้การสนับสนุน ส่งเสริมการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ ตลอดจนถึงการแข่งขันกีฬาในระดับประเทศ รวมไปถึงการให้การสนับสนุนการขอใช้สนามกีฬาจากหน่วยงานภาครัฐ สถานศึกษา และหน่วยงานเอกชนภายนอก ที่มาขอใช้สนามกีฬา ซึ่งสรุปการดำเนินการได้ดังนี้
๑. การส่งเสริมสนับสนุนการกีฬาให้กับข้าราชการในพื้นที่ฐานทัพท่าเรือ เป็นสถานที่พักผ่อนออกกำลังกายและแข่งขันกีฬาสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรือเป็นต้น ประกอบด้วย
- สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน จำนวน ๒ สนาม
- สระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน
- โรงพละศึกษา
- ห้องออกกำลังกาย
- สนามเทนนิส
๒. การจัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการกีฬาให้กับข้าราชการภายในหน่วย ได้แก่
- รำกระบอง
- โยคะ
- เต้นแอโรบิค
- เดิน วิ่งเพื่อสุขภาพ
- การแข่งขันจักรยานเพื่อสุขภาพ
- การแข่งขันแบดมินตัน
๓. การแข่งขันกีฬาภายใน ฐานทัพเรือ
๔. การส่งเสริมสนับสนุนการกีฬาให้กับครอบครัวและบุคคลทั่วไปบริเวณโดยรอบสวนทัศนาภิรมย์ สวนกรมหลวงชุมพร กองทัพเรือ ประกอบด้วย ลานกีฬาหลายประเภท เช่น สนามฟุตบอล สนามบาสเก็ตบอล สนามเด็กเล่น สวนสุขภาพ ลานเอนกประสงค์ สนามกีฬาราชนาวีสัตหีบ กม.๕
๕. การส่งเสริมสนับสนุนการกีฬาให้กับบุตรหลานข้าราชการและเยาวชนในพื้นที่อบรมกีฬาภาคฤดูร้อนให้กับบุตรหลานข้าราชการ ตลอดจนเยาวชนทั่วไป
- กีฬาบาสเก็ตบอล
- กีฬาว่ายน้ำ
- กีฬาแบดมินตัน
- กีฬาเทนนิส
๖. การส่งเสริมสนับสนุนการกีฬาในทางแก้ไขปัญหายาเสพติด ประกอบด้วย
- กีฬาฟุตบอล 7 คน ประเภททั่วไป และประเภทเยาวชน
- การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน เช่น ชักคะเย่อ วิ่งสามขา วิ่งเปี้ยว วิ่งกระสอบ เป็นต้น
๗. การส่งเสริมสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาให้กับหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ภายในพื้นที่ สัตหีบ และการแข่งขันกีฬาภายในกองทัพเรือ กองทัพเรือได้กำหนดพื้นที่สนามกีฬาราชนาวี กม.๕ เป็นพื้นที่หลักในการจัดสร้างสนามกีฬาประเภทต่าง ๆ และได้มีการสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬา ดังนี้
- การแข่งขันสัปดาห์กีฬานาวี
- สนับสนุนการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระหว่างกองการเงินทหารเรือ และธนาคาร
- สนับสนุน รพ.อาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ จัดการแข่งขันกีฬาภายใน
๘. การส่งเสริมสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาให้กับหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐ และเอกชน เช่น
- การแข่งขันกีฬาของสำนักงานอัยการ เขต ๒
- การแข่งขันกีฬาเปตองกองทัพไทย
- การแข่งขันกอล์ฟการกุศล
๙. การส่งเสริมสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาในระดับประเทศ ได้แก่ การแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกและการแข่งขันฟุตบอลในระดับดิวิชั่น ๒ จัดการแข่งขันกีฬาบางประเภท ในกีฬาแห่งชาติ “ชลบุรีเกมส์” และกีฬาคนพิการแห่งชาติ “ เมืองชลเกมส์ ”
งบประมาณ ได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษาสนามกีฬาจากกองทัพเรือโดยกองทัพเรือจะจัดสรรงบประมาณผ่านสำนักงานกีฬากองทัพเรือ มีดังนี้
๑. ค่าวัสดุสิ้นเปลือง จำนวน ๓๐,๐๐๐.- บาท
๒. ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงประเภท เบนซิน เดือนละ ๔๕ ลิตร (สำหรับรถตัดหญ้า)
๓. ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงประเภท ดีเซล เดือนละ ๘๐ ลิตร (สำหรับรถฟาร์มแทรกเตอร์)
การดำเนินงานในการพัฒนาปรับปรุงสนามกีฬาที่ผ่านมา ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทัพเรือ และจากหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ดังนี้
๑. ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง (๑,๒๐๐ ลักซ์) สนามฟุตบอล สนามกีฬาราชนาวี กม.๕
๒. การย้ายระบบไฟฟ้าส่องสว่างจากสนามฟุตบอลเดิมไปยังสนามฝึกซ้อม
๓. ก่อสร้างสนามรักบี้ฟุตบอลขนาดมาตรฐาน
๔. ก่อสร้างสนามรักบี้ฟุตบอลขนาดมาตรฐาน
๕. ปรับปรุงต่อเติมอัฒจันทร์ ด้านทิศตะวันตก ของสนามฟุตบอล ฯ
๖. ก่อสร้างอาคารอัฒจันทร์ ขนาด ๑,๖๐๐ ที่นั่ง จำนวน ๒ หลัง
๗. ซ่อมปรับปรุงสนามแข่งขันและสนามฝึกซ้อมฟุตบอล จำนวน ๒ สนาม
๘. สร้างรั้วสนามแข่งขันฟุตบอล
๙. ปรับปรุงลู่วิ่งสนามกีฬาราชนาวี จากเดิมเป็นลู่ดิน เปลี่ยนเป็นลู่ยางสังเคราะห์ (ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จาก อบจ.ชลบุรี อยู่ระหว่าง อบจ.ชลบุรี พิจารณาอนุมัติเงินอุดหนุน)
ปัญหา อุปสรรค ข้อขัดข้อง
ฐานทัพเรือสัตหีบ ได้พยายามเร่งรัดการพัฒนาปรับปรุงสนามกีฬาในหลาย ๆ ด้าน ทั้งที่งบประมาณค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ไม่มากนัก ทำให้การพัฒนาต้องเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้งบประมาณของกองทัพเรือ ที่มีอยู่อย่างจำกัด แม้ว่าจะอาศัยช่องทางขอรับการสนับสนุนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ได้ อย่างไม่เต็มที่ ฐานทัพเรือสัตหีบจึงได้แต่เพียงคาดหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนช่วยในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาสนามกีฬา รวมถึง กิจกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาให้มีความเจริญก้าวหน้า ต่อไป โดยที่ผ่านมา ผู้บัญชาการทหารเรือได้มีหนังสือ เรียน รมต.การท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อขอรับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงพละศึกษา ขนาดความจุ 2,500 ที่นั่ง
สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
พลเรือตรี ธานี ผุดผาด ผู้ช่วยเลขาธิการ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้การต้อนรับ พลเอก เกษมศักด์ ปลูกสวัสดิ์ และคณะ ในการไปศึกษาดูงานด้านกิจการกีฬา สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สรุปสาระและประเด็นสำคัญได้ดังนี้
สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ก่อตั้งมาตั้งแต่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๗ โดย พลเรือโท ศิริ กระจ่างเนตร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานอนุญาตให้สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๐ เป็นต้นมา
วิสัยทัศน์ “ จะเป็นองค์กรที่มีคุณภาพ ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายว่าเป็นผู้นำกีฬาเรือใบในระดับเอเชียที่เติบโตโดดเด่นสู่ระดับโลกโดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนภายในประเทศ ”
ความสัมพันธ์ระหว่างหน่ายงานด้านกีฬา (ต่างประเทศ)
- สหพันธ์กีฬาเรือใบนานาชาติ (INTERNATIONAL SAILING FEDERATION : ISAF)
- สหพันธ์เรือใบเอเชีย (ASIAN SAILING FEDERATION : ASAF)
- สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ผลงานที่สำคัญ
๑. การแข่งขันเรือใบรายการ 14TH ASIAN SAILING CHAMPIONSHIP ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๙ มี.ค.๕๓ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ ๒ เหรียญทอง จากเรือใบประเภท โฮบี้ ๑๖
๒. การแข่งขันเรือใบรายการ IODA SIANCHAMPIONSHIP ๒๐๑๐ ระหว่าง วันที่ ๓ – ๑๑ ก.ค.๕๓ ณ สโมสรราชวรุณ ฯ ประเทศไทย ผลการแข่งขัน จากเรือใบ ๑๑๓ ลำ จาก ๒๐ ประเทศ ได้อันดับ ๑ แชมป์เอเชียประเภททีม
๓. การแข่งขันเรือใบรายการ INTERNATIONAL ๔๒๐ WORLD CHAMPIONSHIP HAIFA ๒๐๑๐ ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๓๑ ก.ค.๕๓ ณ ประเทศอิสราเอล ผลการแข่งขัน ได้ อันดับ ๑ แชมป์โลกประเภทเยาวชน และ อันดับ ๔ ประเภทบุคคลรวมทั่วไป
๔. การแข่งขันเรือใบในกีฬา ๑๖ th ASIAN GAMES ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๒๗ พ.ย.๕๓ ณ เมืองชานเหว่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ผลการแข่งขัน ได้ ๓ เหรียญทองจากเรือใบประเภทโฮบี้ ๑๖ ,เรือใบประเภทเลเซอร์เรเดียล และเรือใบประเภทออพติมิสต์หญิง
๕.การแข่งขันกีฬา ASIAN BEACH GAMES ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๖ ธ.ค.๕๓ ณ เมืองมัสกัต ประเทศโอมาน ผลการแข่งขัน ๒ เหรียญทอง จากเรือใบประเภทโฮบี้ ๑๖ และเรือใบประเภทเลเซอร์
๖. การแข่งขันกีฬา IODA WORLD SAILING CHAMPIONSHIP ระหว่างวันที่ ๒๘ ธ.ค.๕๓ ถึง ๘ ม.ค.๕๔ ณ เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ผลการแข่งขัน แชมป์โลก ๔ ถ้วยรางวัล จาก ๒ รางวัลชนะเลิศประเภทบุคคลรวม และชนะเลิศประเภทบุคคลหญิง , ๒ รางวัลชนะเลิศประเภททีม และชนะเลิศประเภท BEST TEAM
๗. การแข่งขัน IODA ASAIN OPTIMISTCHAMPIONSHIP ระหว่าง ๒๒ – ๓๐ ก.ค.๕๔ ณ ประเทศสิงค์โปร์ ผลการแข่งขัน - แชมป์เอเชียประเภท Team Racincและ เหรียญเงินบุคคลชายทั่วไป ( Overall)
โครงการอบรมเยาวชนที่ผ่านมา
๑. โครงการลูกหลานปลอดภัยฝึกแล่นเรือใบกับนักกีฬาเหรียญทองระหว่าง ๑ –๓๐ เม.ย.๕๔
๒. เยาวชนเรือใบหัวใจสามัคคี ๑๓ – ๒๑ ส.ค.๕๔
๓. โครงการกิจกรรมกีฬาเฉลิมพระเกียรติ การอบรมการแล่นใบเบื้องต้น ให้กับเยาวชน
หลักการและเหตุผล
กีฬาเรือใบยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไป แม้ว่าสภาพดินฟ้าอากาศ และสถานที่จะเอื้ออำนวยก็ตาม บุคคลส่วนใหญ่มีความคิดว่ากีฬาเรือใบเล่นยาก มีค่าใช้จ่ายสูง ใช้เวลาในการฝึกหัดมาก จึงทำให้ความสนใจในกีฬาเรือใบมีน้อย
วัตถุประสงค์
- เพื่อเผยแพร่กีฬาเรือใบให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
- เพื่อให้เยาวชน ได้มีโอกาสอบรมการแล่นใบ
- เพื่อให้เยาวชน ใช้เวลาว่างด้วยการเล่นกีฬา ไม่ไปมั่วสุมกับอบายมุขและยาเสพติด
- เพื่อสรรหานักกีฬาที่มีศักยภาพร่วมทีมชาติต่อไป
เป้าประสงค์ของโครงการ
- การอบรมแล่นใบเบื้องต้น หลักสูตรเยาวชน มีผู้เข้ารับการอบรม ประมาณ ๘๔ คน สมัครมาจาก ๔๒ โรงเรียน
- ยอดรวมเยาวชนและอาจารย์ผู้ควบคุมและเจ้าหน้าที่ ที่มีส่วนร่วมโครงการอบรมจำนวนทั้งสิ้น ประมาณ ๑๖๐ คน
ห้วงระยะเวลาอบรม ตั้งแต่ ๑๖ – ๒๗ ธ.ค.๕๔
งบประมาณ ดำเนินการโครงการ
- ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ๓๓๐,๐๐๐ บาท
- ค่าของรางวัลการแข่งขัน ๑๐,๐๐๐ บาท
- ค่าตอบแทนครูฝึกและเจ้าหน้าที่ ๒๒๐,๐๐๐ บาท
- ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่นในการฝึก ๓๐๐,๐๐๐ บาท
- ค่าที่พักของผู้เข้ารับการอบรมและเจ้าหน้าที่ ๔๐๐,๐๐๐ บาท
- ค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน ๒๐,๐๐๐ บาท
- ค่าจัดเตรียมสถานที่อบรม ๖๐,๐๐๐ บาท
- ค่าจัดทำหมวกและเสื้อยืด ๑๒๐,๐๐๐ บาท
- ค่าใช้จ่ายงานพิธีเปิดและปิด ๓๐,๐๐๐ บาท
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ๑๐,๐๐๐ บาท
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท
ข้อคิดเห็นคณะอนุกรรมาธิการฯ ขอให้ปรับลดงบประมาณโครงการฯอยู่ในวงเงินประมาณ ๑ ล้านบาทเศษ
ข้อมูลเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2554 12:05:31 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2554 14:59:15 มีการเปิดอ่าน 4457 ครั้ง Share