สรุปผลการศึกษาดูงานคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการกีฬาเด็ก เยาวชน และคนพิการวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2554 ณ กรมพลศึกษา และสถาบันการพลศึกษา

ตามที่คณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการกีฬาเด็ก เยาวชน และคนพิการ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการส่งเสริมและพัฒนากีฬาเด็ก เยาวชน และกีฬาคนพิการ ในวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2554 ณ กรมพลศึกษา และสถาบันการพลศึกษา

 

          ตามที่คณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการกีฬาเด็ก เยาวชน และคนพิการ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการส่งเสริมและพัฒนากีฬาเด็ก เยาวชน และกีฬาคนพิการ ในวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2554 ณ กรมพลศึกษา และสถาบันการพลศึกษาซึ่งฝ่ายเลขานุการ สรุปได้ดังนี้

   

          1. กรมพลศึกษา

          คณะกรรมาธิการฯ ได้เข้ารับฟังการบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนากีฬาเด็ก เยาวชน และกีฬาคนพิการ โดยการต้อนรับจาก ดร.สุวัตร สิทธิหล่อ อธิบดีกรมพลศึกษา และคณะ
 กรมพลศึกษาได้คำนึงถึงบทบาทความรับผิดชอบในการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน ได้มีโอกาสออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬา และเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการ ซึ่งได้จัดกิจกรรม ดังนี้

          1. สนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานและสถานศึกษาสำหรับคนพิการทั่วประเทศ โดยการส่งเสริมการแข่งขันกีฬาทั้งภายใน และเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาคนพิการในระดับต่าง ๆ โดยสำหรับการส่งเสริมการแข่งขันกีฬาภายในโรงเรียนหรือหน่วยงานคนพิการโดยกรมพลศึกษาดำเนินการเอง ยังคงสามารถทำได้น้อย จึงเป็นเพียงร่วมสมทบกับงบประมาณของโรงเรียนและหน่วยงานนั้น ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมในกิจการของบุคลากรเข้าร่วมอบรมผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินกีฬาคนพิการ และที่สำคัญงบประมาณที่จัดสรรลงไปจะเน้นให้นำไปบริหารจัดการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันนักเรียนคนพิการแห่งชาติเป็นสำคัญ เพราะเป็นกิจกรรมของกรมพลศึกษาโดยตรงที่ดำเนินการจัดกิจกรรมดังกล่าวเอง

          2. จัดให้มีการแข่งขันกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติประจำทุกปี โดยโอนและจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับจังหวัดที่เป็นเจ้าภาพร่วมกับกรมพลศึกษา

          3. จัดส่งนักกีฬาคนพิการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาคนพิการระหว่างประเทศ ปีละ 2-3 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันเยาวชนชิงแชมป์โลก และสำหรับปีนี้ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ คือ การจัดส่งนักกีฬาคนพิการทางกายเข้าร่วมการแข่งขัน IWAS WORLD JUNIOR GAMES – DUBAI 2011 ได้รับเหรียญรางวัล จำนวน 3 เหรียญเงิน , 2 เหรียญทองแดง จากนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันเพียง 10 คน

          4. จัดให้มีการอบรมบุคลากรทางการกีฬาสำหรับคนพิการ ได้แก่ อบรมผู้ฝึกสอน อบรมผู้ตัดสิน เป็นต้น

          5. ผลิต คู่มือและกติกากีฬาคนพิการอย่างต่อเนื่องปีละ 1-2/ชนิดกีฬา ตามแต่งบประมาณจะอำนวยหรือสามารถบริหารจัดการได้

          โดยในปี 2554 จะกำหนดแผนการดำเนินงานโครงการ ดังนี้
          1. โครงการส่งเสริมพลศึกษาและกีฬาคนพิการ โดยการจัดสรรงบประมาณให้ตามโรงเรียนและหน่วยงานคนพิการทั่วประเทศ
          2. โครงการจัดส่งนักกีฬาคนพิการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาคนพิการระหว่างประเทศ
          3. โครงการแข่งขันกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติ
          4. โครงการจัดการแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งอาเซียน
          5. โครงการจัดการแข่งขันกีฬาสำหรับผู้เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
          6. โครงการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนคนพิการระหว่างประเทศไตรภาคี (ไทย-มาเลเซีย และสิงคโปร์)

          อำนาจหน้าที่ของกรมพลศึกษา
        • ดำเนินการด้านการกีฬาขั้นพื้นฐานและกีฬามวลชน
        • ดำเนินการด้านนันทนาการ
        • ดำเนินการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา
        • พัฒนาบุคลากรด้านการพลศึกษา สุขภาพ การกีฬา นันทนาการ วิทยาศาสตร์การกีฬา และสาขาที่เกี่ยวข้อง
        • สำรวจ จัดเก็บ รวบรวม และพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อวางแผนและบริหารจัดการ และเผยแพร่ข้อมูลสถิติและองค์ความรู้ด้านการพลศึกษา สุขภาพ การกีฬา นันทนาการ วิทยาศาสตร์การกีฬา และการพัฒนาบุคลากรสาขาที่เกี่ยวข้อง
        • อนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ศิลปะมวยไทย การละเล่นพื้นเมือง และกีฬาพื้นบ้าน
        • ดำเนินการประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นเครือข่ายในการดำเนินงานด้านการพลศึกษา สุขภาพ การกีฬา นันทนาการ วิทยาศาสตร์การกีฬา และการพัฒนาบุคลากรสาขาที่เกี่ยวข้อง
        • จัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน ด้านการพลศึกษา สุขภาพ การกีฬา
        • ศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ วิจัย ให้คำปรึกษา แนะนำ และพัฒนางานด้านวิชาการ การพลศึกษา สุขภาพ การกีฬา นันทนาการ วิทยาศาสตร์การกีฬา และการพัฒนาบุคลากรสาขาที่เกี่ยวข้อง
        • ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านการพลศึกษา สุขภาพ การกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬา และการพัฒนาบุคลากรสาขาที่เกี่ยวข้อง
        • ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรม หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

          ปัญหา และอุปสรรค
        • บุคลากรด้านกีฬาและนันทนาการ ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินงานส่งเสริมกีฬาและในระดับท้องถิ่น และชุมชนไม่เพียงพอกับความต้องการของชุมชน
        • งบประมาณไม่เพียงพอในการดำเนินงานตามพันธกิจได้อย่างเสมอภาคและมีประสิทธิภาพ

          แนวทางแก้ไข
        • จัดหาบุคลากรที่มีความรู้ด้านการกีฬาและนันทนาการไปดำเนินงาน ส่งเสริมกีฬาและนันทนาการ รวมถึงการบริหารจัดการกีฬาในท้องถิ่น และชุมชน
        • สร้างเครือข่ายด้านกีฬาและนันทนาการในระดับท้องถิ่น และชุมชน
• ขอรับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐและการสนับสนุนจากภาคเอกชน และท้องถิ่น เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเสมอภาคและทั่วถึง

  

          การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
          1. ในเรื่องของปฏิทินกีฬาควรจับต้องได้ เพราะเกิดความซ้ำซ้อนและกระชั้นชิดจนเกินไป ทำให้เด็กขาดคุณภาพ ควรจะมีการบูรณาการร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการโอลิมปิก การกีฬาแห่งประเทศไทย กรมพลศึกษา เพื่อประสานงานจัดทำโปรแกรมการแข่งขันหรือปฏิทินกีฬา ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน
          2. ครูพลศึกษามีไม่เพียงพอ และไม่มีศึกษานิเทศ
          3. เกี่ยวกับกีฬาคนพิการ ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร และยังขาดสถานที่ออกกำลังกายให้กับคนพิการ
          4. โครงสร้างเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์การกีฬากับการศึกษา มีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะนำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬามาสู่สถานศึกษาอย่างแพร่หลาย เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึง จะสนใจในเรื่องของกีฬาสู่ความเป็นเลิศเท่านั้น
          5. กีฬาเยาวชนแห่งชาติ กับกีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งประเทศไทย มีอายุการจัดการแข่งขันห่างกันเพียงแค่ 1 ปี แต่งบประมาณที่ได้กลับไม่เท่ากัน
          6. อยากให้คนพิการได้เข้าร่วมชมการแข่งขันและเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาคนพิการแห่งชาติ

          2. สถาบันการพลศึกษา

          คณะกรรมาธิการฯ ได้เข้ารับฟังการบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนากีฬาเด็ก เยาวชน และกีฬาคนพิการ โดยการต้อนรับจาก นายสมพงษ์  ชาตะวิถี อธิการบดี และคณะ

  

  

          กรมพลศึกษาได้ดำเนินการผลิตครูพลศึกษามาเป็นเวลานานโดย รับโอนโรงเรียนพลศึกษากลางมาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 และได้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยเรื่อยมา จนได้มีการจัดตั้ง “วิทยาลัยพลศึกษา” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2496 เพื่อดำเนิน การสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง พลศึกษา) และตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย” ขึ้นในปีการศึกษา 2501 เพื่อดำเนินการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ. พลานามัย) ต่อมาได้ยุบเลิกโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัยในปี พ.ศ. 2512 และได้ขยายหลักสูตรของวิทยาลัยพลศึกษาเป็นระดับปริญญาตรี โดยเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยวิชาการศึกษา แต่ยังคงดำเนินการโดยกรมพลศึกษา และใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา” ในปี พ.ศ. 2514 ได้ยุติการดำเนินการวิทยาลัยพลศึกษาในส่วนกลางและโอนวิทยาลัยวิชาการ ศึกษาพลศึกษาไปให้วิทยาลัยวิชาการศึกษาดำเนินการต่อไป กรมพลศึกษาได้เปิด ดำเนินการผลิตครูพลศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยเริ่มเปิด “วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดเชียงใหม่” ขึ้นเป็นแห่งแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 เปิด “วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดมหาสารคาม” เป็นแห่งที่สอง และมีการเปิดเพิ่มขึ้นในจังหวัดต่างๆ เรื่อยมา จนกระทั่งมีวิทยาลัยพลศึกษารวม 17 แห่ง เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายบรรจุข้าราชการครูจากผู้ที่มีวุฒิการศึกษา ระดับปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ ทำให้กรมพลศึกษาเริ่มหาแนวทางยกฐานะวิทยาลัยพลศึกษาให้สามารถเปิดทำการสอนใน ระดับปริญญาตรี โดยในระยะแรกได้จัดทำโครงการร่วมมือทางวิชาการกับกรมการฝึกหัดครู ให้วิทยาลัยครูรับวิทยาลัยพลศึกษาเข้าสมทบทางวิชาการเพื่อเปิดสอนระดับ ปริญญาตรีหลักสูตรต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2531 ในขณะเดียวกันก็พยายามหาแนวทางที่จะเปิดดำเนินการสอนระดับปริญญาตรีด้วยตนเอง จนได้มีการร่างพระราชบัญญัติเพื่อยกฐานะวิทยาลัยพลศึกษาขึ้นเป็นสถาบัน การศึกษาระดับปริญญา เสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2538 และใช้ชื่อ “ร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคล”

          กรมพลศึกษายังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะผลักดันวิทยาลัยพลศึกษาให้ เป็นสถาบันการศึกษาระดับปริญญา โดยได้กำหนดนโยบายปฏิรูปการจัดการศึกษาของ สถานศึกษาในสังกัดกรมพลศึกษา และมีความเห็นว่าควรเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันการพลศึกษา” ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ได้มีคำสั่งกรมพลศึกษาที่ 136 / 2544 แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา เพื่อดำเนินการต่อไป คณะกรรมการได้นำร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคลมาพิจารณาปรับปรุงให้ เหมาะสมยิ่งขึ้น และได้นำเสนอต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เช่น สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบ ราชการ สำนักงบประมาณ คณะอนุกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

          สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยกลุ่มงานราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศ พระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา ตอนที่ 13 ก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 และทำให้พระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษามีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป  จึงนับได้ว่าสถาบันการพลศึกษาได้ก่อกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548

          อำนาจหน้าที่
          สถาบันการพลศึกษา เป็นสถาบันอุดมศึกษามีวัตถุประสงค์ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางพลศึกษา การกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาศาสตร์สุขภาพ นันทนาการ และบุคลากรในด้านที่เกี่ยวข้อง มีภารกิจทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการ การให้บริการชุมชน การใช้และพัฒนาเทคโนโลยี เสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แก่ท้องถิ่น ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษทางกีฬา นันทนาการ และบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย รวมถึงการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้าน และกีฬาไทย

          การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
          1. ผลักดันโรงเรียนกีฬาให้เกิดความยั่งยืน
          2. นำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ให้เกิดความแพร่หลายในหมู่นักกีฬา
          3. ส่งเสริม และสนับสนุนให้เด็กที่จบจากโรงเรียนกีฬา และสถาบันการพลศึกษา มีงานรองรับ
          4. ให้คณะกรรมาธิการฯ ส่งเสริมพลศึกษา และการจัดทำแผนพัฒนากีฬาชาติ ให้เกิดความยั่งยืน
          5. ให้ชุมชนและท้องถิ่นรับนักเรียน นักศึกษา ที่จบจากโรงเรียนกีฬา และสถาบันการพลศึกษา เข้าทำงาน
          6. จัดการศึกษากีฬาพื้นฐานให้นำไปสู่การเป็นเลิศในอนาคต
          7. กพร. และ สพฐ. ที่เข้ามาประเมินผลงานของโรงเรียนกีฬา และสถาบันการพลศึกษา ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลศึกษา และตั้งการประเมินไว้สูงเกินไป
          8. การขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา และขาดอัตรากำลังสนับสนุน

 

 



ข้อมูลเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2554 14:18:18 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2554 14:19:17 มีการเปิดอ่าน 3744 ครั้ง Share

 

 

 




logo-clicksenate

จำนวนคนเข้าเยี่ยมชม
00539649

กำลังเยี่ยมชมขณะนี้
2 คน