คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดการประชุมครั้งที่ 33/2561 วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 2561 เวลา 08.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 โดยมีวาระการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของเงินบำเหน็จตกทอด ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

14 มิถุนายน 2561 ที่รัฐสภา - พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของเงินบำเหน็จตกทอด ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยเชิญผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง เข้าร่วมประชุม

นางสาวนภัสภรณ์  มากจริง นิติกรชำนาญการ และนางสาวศุภรดา สุปัญจนันท์ นักวิชาการคลังชำนาญการ กรมบัญชีกลาง ได้ชี้แจงรายละเอียดของผู้รับบำนาญอายุ 65 ปี ขึ้นไป ที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จดำรงชีพเกิน 400,000 บาท พร้อมคำนวณยอดเงินรวมทั้งหมดที่เป็นส่วนเกินต่อคณะกรรมาธิการฯ กรณีที่กระทรวงการคลังต้องจ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญ โดยแบ่งเป็นระดับช่วงอายุของผู้รับบำนาญ และไม่รวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ซึ่งมีทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้ อายุ 65 – 70 ปี, 71 – 75 ปี, 76 – 80 ปี และ 81 – 93 ปี

ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางถึงกรณีดังกล่าว อาทิ คุณพรทิพย์ จาละ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า การจ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพในส่วนที่เกินจาก 400,000 บาท ควรดูวัตถุประสงค์ที่แท้จริง คือ การจ่ายเงินส่วนเกินเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้รับบำนาญที่มีรายได้น้อย และเดือดร้อนจากจำนวนเงินที่ได้รับไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ดังนั้น กรมบัญชีกลางควรพิจารณาในประเด็นนี้อย่างรอบคอบ

ด้านประธานคณะกรรมาธิการฯ แสดงความเห็นว่า กลุ่มผู้รับบำนาญที่ต้องการให้จ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพในส่วนที่เกินจาก 400,000 แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีทายาท และกลุ่มที่ไม่มีทายาท โดยพิจารณาจากความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งมีทั้งแนวความคิดที่ต้องการนำเงินส่วนเกินมาใช้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และต้องการให้เป็นบำเหน็จตกทอดไปถึงทายาทเมื่อเสียชีวิตแล้ว

สำหรับข้อเสนอที่สมาคมนายทหารนอกประจำการต้องการ คือ ให้รัฐบาลจ่ายบำเหน็จดำรงชีพให้ครบสิทธิ โดยพิจารณาจ่ายบำเหน็จดำรงชีพครั้งที่ 3 ให้แก่ผู้รับบำนาญที่มีอายุ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับการจ่ายใน 2 ครั้งที่ผ่านมา (ไม่เกิน 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ) ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2546 ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า รายละเอียดที่กรมบัญชีกลางชี้แจง ยังไม่ครอบคลุมครบถ้วน จึงขอให้ส่งข้อมูลที่เป็นประเด็นซักถาม และเกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของเงินบำเหน็จตกทอดต่อคณะกรรมาธิการอีกครั้ง

ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 14:50:25 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 14:52:11 มีการเปิดอ่าน 805 ครั้ง Share