คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดการประชุมครั้งที่ 34/2561 วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2561 เวลา 08.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 โดยมีวาระการพิจารณาข้อเสนอแนะตามร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ เป็นผู้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

15 มิถุนายน 2561 ที่รัฐสภา - พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะตามร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ เป็นผู้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

     ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความเห็นในประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และมีข้อสังเกตในประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยส่วนใหญ่เห็นว่าเนื้อหามีความครอบคลุมหมดแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่ควรเสริมเข้าไป เพื่อให้ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้สามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศได้อย่างเหมาะสมและสมดุล อาทิ พลเรือเอก ชุมนุม อาจวงษ์ กรรมาธิการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวชี้วัดที่กำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งเน้นความพึงพอใจในการให้บริการของภาครัฐ แต่ขาดตัวชี้วัดด้านประสิทธิผล ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในระดับสากล

     ด้านศาสตราจารย์นิสดารก์ เวชยานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการ เห็นว่า ควรมีการกำหนดเป้าหมายของการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติในระยะสั้นด้วย เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำไปปฏิบัติ และประสบผลสำเร็จได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว โดยเชื่อว่าจะเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนได้ ขณะเดียวกันการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตอบสนองความต้องการและให้บริการอย่างสะดวกรวดเร็ว โปร่งใส จำเป็นจะต้องศึกษาความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วม ด้วยการปฏิบัติให้เห็นว่า แนวทางต่าง ๆ ที่ภาครัฐดำเนินการนั้น มีประโยชน์ และมีเป้าหมายเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

     นอกจากนี้ นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร รองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่หนึ่ง ได้แสดงความเห็นว่า ร่างยุทธศาสตร์ชาติมีเนื้อหาครอบคลุมครบทุกด้าน เนื่องจากใช้คำที่มีความหมายกว้าง พร้อมตั้งข้อสังเกตในเรื่องของตัวชี้วัดเช่นเดียวกัน โดยมองว่า ที่กำหนดไว้ 4 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นระดับความ
พึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการสาธารณะของภาครัฐ/ประสิทธิภาพของการบริการภาครัฐ/ระดับความโปร่งใส การทุจริต ประพฤติมิชอบ/และความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยของ ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หรือ KPI เท่านั้น ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับภาครัฐมีขนาดที่เหมาะสม ไม่ได้ระบุวิธีการปรับปรุง หรือแนวทางการดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมายเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ความเหมาะสมที่ควรให้ความสำคัญ คือ ความเหมาะสมในเชิงบูรณาการ ให้ทุกหน่วยงานสามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันได้

     ด้านพลเอก สมหมาย เกาฏีระ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ชื่นชมการกำหนดวิสัยทัศน์ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ โดยมองว่า ทุกหน่วยงานควรตั้งเป้าหมายที่สูง เพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรไปสู่วิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้

     ขณะที่ นายบัญญัติ จันทน์เสนะ และนางนิพัทธา อมรรัตนเมธา ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการเห็นสอดคล้องกันว่า ควรทุ่มเทในเรื่องของงบประมาณ เพื่อพัฒนากำลังคนในประเทศให้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับแต่ละด้าน โดยเฉพาะ เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากทุกภาคส่วน

     อย่างไรก็ตาม ประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ได้มีการหารือในที่ประชุม จะสรุปรวบรวม ส่งให้กลุ่มงานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้านนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำแผนแม่บทต่อไป

ข้อมูลเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 16:29:22 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 16:31:39 มีการเปิดอ่าน 747 ครั้ง Share