คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดการประชุมครั้งที่ 36/2561 วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2561 เวลา 08.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 โดยมีวาระการพิจารณาศึกษาข้อสังเกตและข้อเสนอแนะตามร่างยุทธศาสตร์ชาติ (คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ เป็นผู้เสนอ)

     22 มิถุนายน 2561 ที่รัฐสภา - พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาข้อสังเกตและข้อเสนอแนะตามร่างยุทธศาสตร์ชาติ (คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ เป็นผู้เสนอ)

     สำหรับประเด็นยุทธศาสตร์ชาติที่นำมาพิจารณา มี 2 ประเด็นหลัก คือ ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยคณะอนุกรรมาธิการการป้องกัน การรักษาความมั่นคงประเทศและกิจการทหาร ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับความมั่นคงในระบบคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศจากสงครามไซเบอร์ โดยมองว่าผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสงครามไซเบอร์ต่อระบบและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกองทัพ และหน่วยงานด้านความมั่นคง อาจถูกทำลายหรือถูกก่อกวนให้ระบบไม่สามารถควบคุมสั่งการได้ ดังนั้น จึงควรเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ รวมถึงจัดตั้งหน่วยงานที่คอยทำหน้าที่ป้องกันระบบและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ให้มีความปลอดภัย และพร้อมที่จะจู่โจมฝ่ายตรงข้ามได้เมื่อถูกรุกราน นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตในประเด็นของการสร้างความปลอดภัยและสันติสุขอย่างถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการแก้ไขจนเกิดความสงบและสันติสุขอย่างยั่งยืน ประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน เห็นควรให้การสนับสนุนองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น โครงการกัมปงตักวา ได้รับการยอมรับจากชาวมุสลิมในพื้นที่ในการมีบทบาทและมีส่วนร่วม ก่อนที่จะดำเนินการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง พร้อมเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านการศึกษา ควรเพิ่มเรื่องของความมั่นคงในหลักสูตร จัดโครงการฝึกอบรมหรือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกแก่เด็ก สร้างความเข้มแข็ง/ความพร้อม/และการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งในประเด็นนี้ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากกรรมาธิการฯว่า การส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรเป็น ผู้มีความรู้ ความเข้าใจปัญหาในพื้นที่ ตามหลักรัฐประศาสโนบาย 6 ประการ และยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ด้วย 

     ขณะที่ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ในข้อ 4.2 ว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด ที่ปัจจุบันนี้เป็นปัญหาใหญ่ และมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ โดยเสนอให้ประสานความร่วมมือกับมิตรประเทศในการปราบปรามสถานที่ผลิตยาเสพติด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

     สำหรับประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ คณะอนุกรรมาธิการการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน และการพัฒนาระบบราชการ ได้นำไปพิจารณาศึกษา พร้อมกับมีข้อสังเกตบางประการในยุทธศาสตร์ดังกล่าว อาทิ การจัดระบบการบริหารข้อมูลภาครัฐ ยังขาดประสิทธิภาพ และขาดตัวชี้วัดที่เหมาะสม ขณะที่ความสอดคล้องในเชิงบูรณาการ ของแต่ละภาคส่วนยังไม่มีแนวทางในการบริหารจัดการเทคโนโลยีร่วมกันอย่างชัดเจน

     นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนแม่บทว่า ไม่ต้องการให้แต่ละหน่วยงานแยกกันทำ แต่ควรทำในลักษณะของการบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกหน่วยงาน มีการกำหนดแผนการปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสม ปรับปรุงขนาดของกระทรวง ทบวง กรม เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน เช่นเดียวกับการปรับบทบาทภารกิจของภาครัฐ และการประเมินความสำเร็จ ควรจะมองให้ครอบคลุมทุกด้าน
ส่วนข้อเสนอแนะในเป้าหมายที่ 1 การกำหนดให้ภาครัฐทำงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ควรมองที่วิธีการที่จะทำให้เกิดผลได้จริง เนื่องจากข้อความที่เขียนไว้ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ ใช้คำที่มีความหมายกว้าง อาจทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติยาก ขณะเดียวกันควรพิจารณารูปแบบของการจ้างงานของภาครัฐให้มีความหลากหลาย ยืดหยุ่น เพื่อจูงใจผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเข้ามาทำงานในภาครัฐโดยไม่ต้องบรรจุเป็นข้าราชการเพียงอย่างเดียว

     อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม อาทิ ควรมีแผนการรองรับบุคลากรที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับลดขนาดของภาครัฐ, ควรกำหนดช่วงเวลาในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับช่วงเวลาด้วยเช่นเดียวกัน, การดำเนินการจัดทำแผนแม่บท คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ควรมีแนวทางในการบูรณาการจัดทำแผนแม่บท และการดำเนินการตามแผนแม่บทร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ข้อมูลเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 16:20:07 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 00:00:00 มีการเปิดอ่าน 776 ครั้ง Share