คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดการประชุมครั้งที่ 37/2561 วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2561 เวลา 08.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 โดยมีวาระการพิจารณาศึกษายุทธศาสตร์การแก้ไขสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้มีสันติสุขอย่างยั่งยืน ประเด็นสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และการดำเนินการตามแนวคิดชุมชนตักวา

     28 มิถุนายน 2561 ที่รัฐสภา - พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษายุทธศาสตร์การแก้ไขสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้มีสันติสุขอย่างยั่งยืน ประเด็นสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และการดำเนินการตามแนวคิดชุมชนตักวา โดยเชิญพลเอก ชินวัฒน์ แม้นเดช ที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการฯ

     พลเอก ชินวัฒน์ แม้นเดช ที่ปรึกษา กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากความไม่เข้าใจทางเชื้อชาติและศาสนา โดยมีการบ่มเพาะวาทกรรมชาติพันธุ์ ชาตินิยม และศาสนาหัวรุนแรงต่อชุมชน ทั้งนี้มองว่า หลักการที่จะนำมาแก้ยุทธศาสตร์ของกลุ่มผู้ก่อการร้าย รัฐจำเป็นจะต้องสร้างความเป็นธรรม 3 ด้าน ได้แก่ ความชอบธรรมของรัฐที่มีต่อประชาชน, ขบวนการกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงและสุดโต่งขาดความชอบธรรมในสายตาของประชาชน และรัฐต้องได้รับการสนับสนุน (ความชอบธรรม) จากองค์กรระหว่างประเทศมากกว่า ขบวนการกลุ่มผู้เห็นต่าง

     สำหรับกรอบแนวทางยุทธศาสตร์ที่นำมายุติสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น ต้องทำให้ผู้นำชุมชนมุสลิมยอมรับอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐไทย, สลายวาทกรรมที่บิดเบือนเรื่อง “ดารุลฮัจบี” โดยใช้กระบวนการชุมชนตักวา 9 ขั้นตอนของผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และปราชญ์ในพื้นที่ทุกระดับ, สลายวาทกรรมชาตินิยมมลายูปาตานี แบบสุดโต่ง สู่การดำรงซึ่งอัตลักษณ์ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม พร้อมสร้างความเข้าใจเรื่อง “พหุวัฒนธรรม” ทั้งในชุมชน โรงเรียน เพื่อสร้างกลไกการอยู่ร่วมกัน และปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ซึ่งปัจจุบัน มีการดำเนินการขับเคลื่อนชุมชนตักวาแล้วกว่า 480 ชุมชน 1,877 มัสยิด

     พลเอก ชินวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาอุปสรรคสำคัญของการดำเนินการขับเคลื่อนชุมชนตักวา คือ ความไม่เข้าใจหลัก “ตักวา” และกระบวนการขับเคลื่อน 9 ขั้นตอนของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำการสนับสนุนส่งเสริม, ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ไม่เข้าใจและไม่ให้ความร่วมมือกับผู้นำมัสยิด และยังขาดผู้รู้ทางศาสนาในระดับมัสยิด

     นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล กรรมาธิการ เห็นด้วยกับหลักชุมชนตักวา ที่นำมัสยิดมาเป็นศูนย์กลางของชุมชน พร้อมเสนอให้จัดทำโรงเรียนต้นแบบ ที่มีการเรียนการสอนเชิงพหุวัฒนธรรม เพื่อให้ชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิม เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน ขณะเดียวกันหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ควรเปิดกว้าง และให้อิสระกับบุคคลทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

     ด้านพลอากาศเอก อิทธพร ศุภวงศ์ กรรมาธิการ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน ได้มีการพิจารณาศึกษาข้อสังเกตและข้อเสนอแนะตามร่างยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีข้อสังเกตในประเด็นของการสร้างความปลอดภัยและสันติสุขอย่างถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเห็นควรให้การสนับสนุนองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น โครงการกำปงตักวา ได้รับการยอมรับจากชาวมุสลิมในพื้นที่ในการมีบทบาทและมีส่วนร่วม ก่อนที่จะดำเนินการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง สอดคล้องกับการดำเนินการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าในปัจจุบัน

     นอกจากนี้นายบัญญัติ จันทน์เสนะ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เกิดจากความไม่ต่อเนื่องเชิงนโยบาย ประชาชนเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมและเป็นไทย ดังนั้น สิ่งที่ควรเน้นย้ำ คือ การสร้างความภูมิใจในชาติกำเนิดให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสังคมเชิงจิตวิทยา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันคิดให้ตกผลึกว่า ทำอย่างไร กระบวนการทั้งหมดจะสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง และยุติปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อย่างแท้จริง

ข้อมูลเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 15:30:45 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 00:00:00 มีการเปิดอ่าน 782 ครั้ง Share