โครงการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติ (ตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืน)”

จัดโดย คณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันพุธที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๕.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องรับรอง ๑ - ๒ ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๒

การสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “แนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติ (ตามยุทธศาสตร์
แผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืน)” ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้แทน 
๑๒ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี จังหวัดกระบี่ จังหวัดชลบุรีจังหวัดตรัง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 
จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสตูล จังหวัดสระบุรี จังหวัดอำนาจเจริญ
และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่ประสบปัญหาลิงในระดับวิกฤติ เข้าร่วมสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยน
เรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาลิง ทั้งในอดีตที่ได้ดำเนินการมา
ในหลากหลายรูปแบบและในปัจจุบันที่แต่ละจังหวัดข้างต้นได้จัดทำแผนการบริหารจัดการ
ปัญหาลิงของจังหวัด รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน 
โดยมีต้นแบบตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืน 
ซึ่งประกอบด้วย ๓ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การบริหารจัดการลิง 
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การบริหารจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยของลิง และยุทธศาสตร์ที่ ๓ การบูรณาการแก้ไขปัญหาลิง 

ตามรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมการ เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิง
ในพื้นที่วิกฤติ (ตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทการบริการจัดการปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืน) 
ได้แบ่งรูปแบบพื้นที่ที่เกิดปัญหาพิพาทระหว่างมนุษย์กับลิงในประเทศไทย ออกเป็น ๓ รูปแบบ ได้แก่ 
รูปแบบที่ ๑ พื้นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของลิงถูกรุกล้ำหรือคุกคาม (จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง 
จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดอำนาจเจริญ) รูปแบบที่ ๒ พื้นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของลิงถูกล้อมรอบ
ด้วยชุมชน (กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสตูล และจังหวัดสระบุรี) 
และรูปแบบที่ ๓ พื้นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของลิงถูกทับซ้อนโดยพื้นที่ชุมชน (จังหวัดเพชรบุรี 
และจังหวัดมุกดาหาร) โดยมีเนื้อหาสาระประกอบด้วยสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและการดำเนินการ
แก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของแต่ละจังหวัด รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทฯ 
ทั้ง ๓ ยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการต่อการดำเนินการของแต่ละจังหวัด
ที่ได้ระบุเป็นรายละเอียดไว้พร้อมแล้วในรายงานฉบับนี้ โดยอาจมีข้อแตกต่างตามสภาพปัญหา
ที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด  ทั้งนี้ เพื่อให้แต่ละจังหวัดสามารถนำไปเป็นแนวทางในการจัดทำ
แผนปฏิบัติการระยะเวลา ๕ ปี ในการขอรับจัดสรรงบประมาณต่อไป  
 

สำหรับการสัมมนาทางวิชาการฯ ในครั้งนี้ มีการนำเสนอผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาลิงที่น่าสนใจ
ในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ 

๑. การนำเสนอ “การบริหารจัดการปัญหาลิงลพบุรี” โดย นายจรูญ  ชูเกียรติวัฒนา 
ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
๒. การนำเสนอ “ภาพรวมการแก้ไขปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีและแนวทางการดำเนินการ
ตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืน” 
โดย นายชัยณรงค์  ดูดดื่ม ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑ สาขาสระบุรี 
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 
 

๓. การนำเสนอ “ความเป็นมาและการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหา
ความเดือดร้อนจากลิงแสมและลิงกังในจังหวัดภูเก็ต” โดย นายพงศ์ชาติ  เชื้อหอม 
หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

๔. การนำเสนอ เรื่อง “คนหรือลิง ตัวจริงของปัญหา” โดย นายวิศิษฎ์  อาศัยธรรมกุล อนุกรรมการ 
ในคณะอนุกรรมการติดตามกลไกการปกป้องคุ้มครองสัตว์ 

๕. การนำเสนอ “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตลิงเขตบางขุนเทียน” โดย ผู้แทนชมรมคนรักลิงหัวใจแกร่ง 

ในโอกาสนี้ นายวัลลภ  ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณา
การปกป้องคุ้มครองสัตว์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มอบรายงานผลการพิจารณาศึกษา
ของคณะกรรมการ เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติ 
(ตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทการบริการจัดการปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืน) 
ให้กับผู้แทน ๑๒ จังหวัดที่ประสบปัญหาลิงในระดับวิกฤติ เพื่อนำไปขับเคลื่อนการดำเนินการ
ในแต่ละจังหวัดให้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป 



***************************************************************************
 

เอกสารประกอบ

  1. “การบริหารจัดการปัญหาลิงลพบุรี” โดย นายจรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี

  2. “ภาพรวมการแก้ไขปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีและแนวทางการดำเนินการตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทฯ

  3. “ความเป็นมาและการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากลิงแสมและลิงกัง

  4. “คนหรือลิง ตัวจริงของปัญหา” โดย นายวิศิษฎ์ อาศัยธรรมกุล

  5. “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตลิงเขตบางขุนเทียน” โดย ผู้แทนชมรมคนรักลิงหัวใจแกร่ง

  เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติฯ

  รายงานสรุปผลการสัมมนา เรื่อง แนวทางบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติฯ

ภาพประกอบ










ข้อมูลเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 11:08:06 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 13:07:54 มีการเปิดอ่าน 1224 ครั้ง Share


logo-clicksenate

จำนวนคนเข้าเยี่ยมชม
00045080

กำลังเยี่ยมชมขณะนี้
1 คน