มหันตภัยของชาติที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

มหันตภัยของชาติที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

วีรวิท คงศักดิ์

 

เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช. )ได้เผยแพร่ผลสำรวจทัศนะของภาคธุรกิจที่มีต่อสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ที่ได้จากการจ้างให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของภาคเอกชนที่มีต่อสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย

การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ มาจากกลุ่มตัวอย่างภาคธุรกิจ (การผลิต การบริการ และการค้า) ในช่วงเดือนมีนาคม พฤษภาคม ๒๕๕๓ จำนวน ๔๑๑ ตัวอย่าง สรุปผลการสำรวจเบื้องต้นในภาพรวมของสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นพบว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่สถานการณ์ทุจริตกลับเพิ่มขึ้นกว่ารอบ ๑๒ เดือนที่ผ่านมา

โดยนักธุรกิจส่วนใหญ่ร้อยละ ๗๘.๓ ยังคงให้เงินเพิ่มพิเศษ/เงินสินบนแก่ข้าราชการที่ทุจริต และร้อยละ ๑๐.๕ ระบุว่า ต้องให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และข้าราชการเรียกร้องสินบนเพิ่มขึ้น

ส่วนหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างจ่ายเงินพิเศษคิดเป็นร้อยละของจำนวนครั้งที่ติดต่อสูงสุด ๕ ลำดับแรกได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล กรมที่ดิน องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และตำรวจทางหลวง/จราจร

สำหรับจำนวนเงินพิเศษที่นักธุรกิจจ่ายให้แก่หน่วยงานต่างๆ พิจารณาเฉพาะหน่วยธุรกิจที่มีประสบการณ์การจ่ายเงินพิเศษพบว่า หน่วยธุรกิจจ่ายเงินพิเศษเฉลี่ยต่อปีจำนวนสูงสุดให้แก่ นักการเมืองที่มีอิทธิพลต่อกิจการกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี (กรมเจ้าท่า) กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามลำดับ

และจ่ายเงินพิเศษเฉลี่ยต่อครั้งเป็นจำนวนที่สูงให้แก่ กรมสรรพากร นักการเมืองที่มีอิทธิพลต่อกิจการกรมสรรพสามิต กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (กรมทะเบียนการค้า) และกรมการปกครองตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า นักธุรกิจพบเห็นวิธีการและการทุจริตคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่างๆ ที่มากที่สุด ได้แก่ การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการฝากลูกหลาน ญาติพี่น้องเข้าทำงานในหน่วยงานของตน

ในด้านรูปแบบที่พบเห็นค่อนข้างมาก ได้แก่ (๑) การทุจริตเชิงนโยบาย โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การใช้อำนาจและหน้าที่ในตำแหน่งเพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน หรือ ทางการเมือง (๒) การแทรกแซงครอบงำของฝ่ายการเมือง (๓) การร่วมกันนำเสนอช่องทาง/โครงการที่มีงบประมาณรวมขนาดใหญ่มากขึ้น (๔) การรับสินบนซึ่งส่งผลให้มีการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้จ่ายสินบน (๕) การส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผู้ร่วมงานแสวงหาประโยชน์ส่วนตน (๖) การรับส่วยและการเรียกรับทรัพย์สินและเงินทองจากประชาชน (๗) การวิ่งเต้นขอตำแหน่งในวงราชการ และ (๘) การทุจริตในการประมูลงานของรัฐ

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจส่วนใหญ่ระบุว่า สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบันมีผลกระทบในแง่ลบต่อการดำเนินธุรกิจเล็กน้อยถึงไม่มีผลกระทบเลย และพร้อมจ่ายเงินอย่างไม่เป็นทางการให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ คิดเป็นเงินร้อยละ ๑-๑.๙๙ ของรายรับทั้งหมดต่อปี

และยอมรับว่า การจ่ายเงินพิเศษเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำกันจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ จนเป็นที่รู้กันว่า ควรจ่ายเท่าไร จ่ายอย่างไร โดยไม่ต้องมีใครเอ่ยปาก ขณะที่ส่วนใหญ่เมื่อจ่ายเงินแล้วธุรกิจมักจะได้รับการอำนวยความสะดวกตามที่ตกลงกันไว้

จากรายงานฉบับนี้ ถึงแม้ว่ากลุ่มตัวอย่างที่สำรวจในครั้งนี้มีจำนวนไม่มากนัก และเป็นเพียงผลการสำรวจเบื้องต้นเท่านั้น ยังต้องสำรวจความคิดเห็นของภาครัฐ รวมไปถึงนักการเมืองด้วย เพื่อให้ได้ความคิดเห็นในมุมมองที่หลากหลายรอบด้าน จึงจะสรุปสถานการณ์การทุจริต ประพฤติมิชอบที่แท้จริงได้

แต่ข้อกล่าวหานี้เป็นเรื่องที่หัวหน้าส่วนราชการที่ถูกระบุในรายงานฉบับนี้ ทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำ “ต้อง” ให้ความสนใจและทำการแก้ไขโดยด่วน

หรือจะออกมาปฏิเสธต่อสาธารณะให้ชัดเจนก็ได้ว่า“ไม่จริง”

ทั้งนี้เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ ป.ป.ช.เพิ่งเปิดเผยเป็นครั้งแรกหรือเป็นข้อกล่าวหา “ใหม่”

โดยเรื่องนี้ ป.ป.ช.เคยเปิดเผยเมื่อวันที่ ๕-๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ และได้นำมาเผยแพร่ในคอลัมน์นี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒ ในชื่อ “มหันตภัยที่นำชาติไปสู่หายนะ” ซึ่งมีข้อความคล้ายคลึงกันว่า

จากประสบการณ์ในการทำธุรกิจกับหน่วยงานของรัฐของผู้ประกอบการ พบว่า หน่วยงานรัฐ ๕ แห่งที่มีคอร์รัปชั่นมากที่สุด คือ ตำรวจทางหลวง/จราจรและตำรวจอื่นๆ ๔๐.๓% นักการเมือง ๑๗.๔% กรมศุลกากร ๑๒.๒% องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ๗.๘% และกรมที่ดิน ๗%

 หน่วยงานภาครัฐที่ผู้ประกอบการ ต้องจ่ายเงินพิเศษให้มากที่สุด ๕ ลำดับแรกในปี ๒๕๕๒ คือ กรมที่ดิน ๗๒.๒๒% องค์การบริหารส่วนตำบล ๖๘.๕๒% องค์การบริหารส่วนจังหวัด ๖๐.๕๒% ตำรวจทางหลวงและจราจร ๕๙.๐๘% นักการเมืองที่มีอิทธิพล ๔๔.๗๖%

และได้รายงานผลการสำรวจของเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในบทความฉบับเดียวกันว่า

มีประชาชนถึง ๘๔.๕ % มองว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำธุรกิจ 

ขณะเดียวกัน ๕๑.๒ % ยังยอมรับได้ที่รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น โดยคิดว่า ทุกรัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าทุจริตแล้วทำให้ประเทศรุ่งเรืองประชาชนกินดีอยู่ดีก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้

เมื่อเปรียบเทียบผลการศึกษาสองครั้งที่เวลาห่างกัน ๑ ปีเศษ จะเห็นว่า สถานการณ์ด้านการทุจริตในประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย ทั้งหน่วยงาน พฤติกรรม และทัศนคติ อีกทั้งยังมีรูปแบบที่หลากหลายและชัดเจนมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นว่า การบริหารราชการแผ่นดินของเรา “รั่วไหล” มากขึ้น

บางประเด็นอาจจะมีการเปลี่ยนตำแหน่ง “แชมป์” การรับสินบนกันบ้าง และมีหน่วยงานใหม่เพิ่มขึ้น คล้ายกับลัทธิเอาอย่าง โดยไม่มี “หิริ โอตัปปะ” หรือ “ละอายชั่ว กลัวบาป” กันเลย

สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือ ทัศนคติของนักธุรกิจที่ว่า “จ่ายสินบนเพื่อความสะดวกในการดำเนินธุรกิจให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่ำกว่าร้อยละ ๒ ไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจและไม่เกิดผลในแง่ลบ” และเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะวิธีคิดของท่านมองข้าม “ประโยชน์สุข” ของประชาชนไปอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้เพราะการที่ท่านจ่ายเพื่อสนับสนุนการทุจริตประพฤติมิชอบให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐร้อยละ ๒ นั้น ถ้าคิดเป็นตัวเงินจากงบลงทุนของประเทศในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ จำนวน ๓๔๔,๔๙๕.๑ ล้านบาทแล้ว จะเป็นจำนวนเงินที่สูงมากถึง ๖,๘๘๙.๙๖ ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่รั่วไหลแล้วจะสามารถนำไปสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนในเรื่องต่างๆ ได้อย่างมากมาย

และเมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมดจำนวน ๒.๐๗ ล้านล้านบาท รวมทั้งเงินที่รัฐวิสาหกิจใช้จ่ายแล้ว จำนวนเงินที่รั่วไหลจากตัวเลขร้อยละ ๒ ที่นักธุรกิจ “รับได้” นั้น เป็นเรื่องที่ประชาชน “รับไม่ได้”

นอกจากนั้น ข้าราชการในหน่วยงานที่ถูกกล่าวถึงในรายงานนี้ก็ควรจะ “รับไม่ได้” ด้วย เพราะศักดิ์ศรีของข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ถูกปลูกฝังให้ทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ถูกซื้อและทำลายได้ด้วย “เศษเงิน” เพียงเล็กน้อยของนักธุรกิจ

ในเรื่องนี้คณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้ศึกษาและพบว่า หลายประเทศได้ปรับปรุงกฎหมาย “การให้และรับสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ” และใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งได้ผลกว่ามาตรการป้องกันการ “ฮั้วประมูล” ที่ใช้อยู่

มาถึงจุดนี้คงต้องผ่านแนวคิดนี้ไปยังรัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่า “สะอาด” ลองศึกษากฎหมายการให้และรับสินบน (Bribery Act) ของประเทศต่างๆ และผลักดันให้เป็นกฎหมายอย่างจริงจัง ก่อนที่มหันตภัยที่ร้ายแรงนี้จะทำลายชาติจนย่อยยับ 

นอกจากนั้น ท่านนายกรัฐมนตรีต้องใช้ “พลัง” ผลักดันให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ๒ ฉบับที่ใช้เป็นเครื่องมือในการปราบคอร์รัปชั่นที่ค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร คือ กฎหมาย ป.ป.ช.ที่กำลังตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภาอยู่ในขณะนี้ และกฎหมาย ส.ต.ง.ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเพิ่งเสนอเข้าไปใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๓๙ ผ่านความเห็นชอบของสภาทั้งสองก่อนที่ท่านจะพ้นจากตำแหน่ง

และประการสุดท้าย ท่านนายกรัฐมนตรีต้องไม่ลืมตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ด้วยนะครับ เพราะประชาชนเขา “รอ” อยู่นานแล้ว

------------------

เขียนให้ โพสต์ทูเดย์

๑๘ ต.ค.๕๓


ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 12:00:57 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 00:00:00 มีการเปิดอ่าน 2572 ครั้ง Share