ความไม่ซื่อตรงของคนในชาติ

ความไม่ซื่อตรงของคนในชาติ (๑)

พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์

 เลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา

กระบวนการวางแผน “ยุทธศาสตร์” เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อกำหนดวิธีการบริหารองค์กรให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ โดยพิจารณาทั้งวิธีการที่เป็นศาสตร์และศิลป์

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และปัญหาอุปสรรค หรือที่เราเรียกกันอย่างคุ้นปากว่า SWOT (Strength Weakness Opportunity Threat) เพื่อแสวงหา “ค่านิยมหลัก” (Core Value) กับความสามารถหลัก (Core Competency) และใช้คุณค่าเหล่านี้เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรไปสู่เป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

หรืออาจกล่าวได้ว่า การกำหนดยุทธศาสตร์องค์กร จะต้องมีทั้งการพัฒนาระบบบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาศักยภาพของคนให้เหนือกว่าคู่แข่งขัน

ถ้าพิจารณาจากบทเรียนของการวางแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาแล้วคงต้องยอมรับว่า ขั้นตอนที่ยากที่สุด คือ การประเมินจุดอ่อนในเรื่องลักษณะนิสัยที่ไม่ดีของคนในองค์กรเพื่อพัฒนาศักยภาพของ “คน”

ทั้งนี้เพราะคนเรามักจะไม่ค่อยยอมรับความจริงในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นไปตามที่ Thales นักปราชญ์ชาวกรีกได้กล่าวไว้เมื่อสองพันปีก่อนว่า “สิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตมนุษย์ คือ การยอมรับความบกพร่องของตนเอง”

 หลายองค์กรได้พยายามแก้ไขจุดอ่อนนี้ด้วยการใช้ “กระบวนการมีส่วนร่วม” เพื่อให้ทุกคนคิดได้ด้วยตนเองว่า มีส่วนทำให้ยุทธศาสตร์ที่คิดไว้อย่างรอบคอบ “ไม่สำเร็จ” และยอมปรับปรุงตนเอง

อย่างไรก็ดี การไม่ยอมรับข้อบกพร่องของตนเองนั้น จะแปรผันตามประสบการณ์ของคน หรือ “ยิ่งสูง ยิ่งมองไม่เห็น” ทั้งนี้ เนื่องจากคนเราเมื่อทำงานมานานมีประสบการณ์มากก็มี “อัตตา” สูง จึงมักคิดว่าตนเก่งและดีกว่าผู้อื่น ไม่ยอมฟังใคร รวมทั้งอาจไม่มีเวลามาสนใจและแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองด้วย

ดังนั้น องค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศ จึงมักจะมีอุปสรรคในเรื่อง “ชนชั้นนำของประเทศ” (Elite) ไม่ให้ร่วมมือในการแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองเช่นเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้แผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่วางไว้อย่างดีและสวยหรู ไปไม่ถึง “ดวงดาว” ที่ปรารถนา

มาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งที่พยายามจะแสวงหากลยุทธ์ในการแก้ไข “จุดอ่อน” เรื่องนี้ ด้วยการศึกษาบทเรียนจากการพัฒนาประเทศของตนให้เป็น “สังคมแห่งศีลธรรมและจรรยา” (Moral and Ethic Society) ซึ่งได้เริ่มปลูกฝังค่านิยม ๗ ประการให้กับคนในชาติ คือ ความซื่อสัตย์ ความสามารถ ความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และความยุติธรรม ในปี ค.ศ.1998-2003

บทเรียนทำให้มาเลเซียเรียนรู้ว่า การปลูกฝังค่านิยมหรือคุณค่าหลายประการนั้นมีมาก ยากที่จะ “จดจำและทำ” และชนชั้นนำของสังคมไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขความบกพร่องของตนเอง

ด้วยเหตุนี้ มาเลเซียจึงลดการปลูกฝังค่านิยมเหลือประการเดียว คือ “ความซื่อตรง” (Integrity) ซึ่งเป็นคุณค่าพื้นฐานที่จะนำไปสู่ค่านิยมอีกหลายประการ เช่น ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความสามารถ ความมีวินัย ความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือ ฯลฯ

นอกจากนั้น ได้มอบให้นักสังคมศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคนในชาติ ๕ คน ไปทำการวิจัยแบบมีส่วนร่วม หรือจัดเวทีสาธารณะทั่วประเทศ เพื่อหาคำตอบในประเด็นที่ว่า “ทำไมคนมาเลเซียจึงบกพร่องในเรื่องความซื่อตรง” เพื่อเริ่มการวางยุทธศาสตร์การสร้างความซื่อตรงของคนในชาติ

จากการศึกษาเป็นเวลา ๑ ปี ได้ข้อสรุปว่า สาเหตุหลักที่ทำให้คนในชาติไม่ซื่อตรงนั้น มีปัจจัย ๕ ประการ คือ ปัจจัยจากตัวบุคคล ปัจจัยจากภาวะผู้นำ ปัจจัยด้านระบบและกระบวนการ ปัจจัยด้านโครงสร้างและสถาบันทางสังคม และปัจจัยด้านวัฒนธรรม

ในด้าน “ปัจจัยจากตัวบุคคล” พบว่า

จุดอ่อนของคนนั้นถือว่า เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะความเข้าใจผิดพลาดในเรื่องของศาสนาและชุดคุณค่าต่างๆ รวมไปถึงการไร้ซึ่งคุณธรรมในการทำงาน ผสมผสานกับความโลภที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล ส่งผลให้บุคคลนั้นไม่สามารถที่จะก้าวถึงความ “ซื่อตรง” ได้

นอกจากนี้ ความซื่อตรงจะไม่สามารถเกิดขึ้น ถ้าบุคคลนั้นยังคงใช้ความคิดของตนเองเป็นหลัก หมกมุ่นกับการเพ็งเล็งจุดด้อยของผู้อื่นโดยปราศจากการประเมินจุดด้อยของตนเอง และปฏิเสธการรับความรู้ทั้งปวงที่ถูกถ่ายทอดจากผู้อื่น โดยมุ่งหวังแต่การเอาชนะจากความคิดของตนเองเพียงเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้นความต้องการส่วนบุคคลในบางเรื่องบางประเด็น ยังเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งโอกาสที่จะมีการทุจริตจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก หากบุคคลผู้นั้นไม่ได้ถือครองชุดคุณค่าที่พึงมีส่วน “ปัจจัยจากภาวะผู้นำ” พบว่า

ภาวะผู้นำถือว่า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาวัฒนธรรมขององค์กรและพัฒนาชุดความคิดเรื่องความซื่อตรง ผู้นำในระดับต่างๆนั้น ควรจะมีบทบาทในการที่จะให้คำแนะนำและส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นหากมีพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาในองค์กร ซึ่งการขาดปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อการทำให้เกิดความซื่อตรง

นอกจากนั้น ผู้นำพึงเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ตาม ซึ่งผู้นำควรที่จะปฏิบัติตามครรลองของกฎหมาย และข้อกำหนดต่างๆ หากผู้นำนั้นเบี่ยงเบนการปฏิบัติจากแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ก็จะส่งผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความซื่อตรงแก่บุคคลอื่นต่อไป

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า สาเหตุหลักของปัญหาในการพัฒนาประเทศไปสู่ “สังคมแห่งความซื่อตรง” ที่มาเลเซียพบ คือ พฤติกรรมของคน โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นนำของคนในสังคม ขาดความซื่อตรง จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาดังกล่าว และขยายขอบเขตจากภาครัฐไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมมาเลเซีย

ถ้าหันกลับมาดู “สยามเมืองยิ้มของเรา” คงต้องยอมรับว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ยังก้าวไปไม่ถึงการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาลักษณะนิสัยและค่านิยมของ “คน” โดยเฉพาะกลุ่มชั้นนำของสังคม ซึ่งได้แก่ นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจชั้นนำ ผู้นำท้องถิ่น และอื่นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ อนาคตของประเทศจึงยังมืดมน “ไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะเราไม่สามารถหาบุคคลต้นแบบในเรื่องความซื่อตรงของคนในสังคมได้

ใครจะเป็น “เจ้าภาพ” เรื่องนี้ดีครับ

------------------

เขียนให้ “โพสต์ทูเดย์”

๓ ต.ค.๕๓

 

 

 

 

 

 

 

 

ความไม่ซื่อตรงของคนในชาติ (๒)

วีรวิท คงศักดิ์

ในตอนที่แล้วได้เล่าให้ฟังถึง “แผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ” (National Integrity Plan) ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเกิดจากงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อแสวงหาคำตอบของปัญหา “ทำไมคนมาเลเซียจึงบกพร่องในเรื่องความซื่อตรง” เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของคนไปแล้ว คือ ปัจจัยจากตัวบุคคล และปัจจัยจากภาวะผู้นำ

คราวนี้มาต่อกันในเรื่องการพัฒนาระบบงานของประเทศ คือ ปัจจัยเชิงระบบและกระบวนการ ปัจจัยด้านโครงสร้างและสถาบันทางสังคม และปัจจัยด้านวัฒนธรรม

ในด้าน “ปัจจัยเชิงระบบและกระบวนการ” มาเลเซีย พบว่า

ระบบและกระบวนการนั้น ครอบคลุมหลายมิติด้วยกัน ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า มี ๖ มิติ ที่จะมีผลต่อความซื่อตรงของคนในชาติ

มิติแรก ความไม่โปร่งใสในการบริหารของภาครัฐ โดยเริ่มจากกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และกระบวนการบริหารผลประโยชน์สาธารณะที่ส่อไปในทางทุจริต เช่น การฮั้วประมูล ฯลฯ

มิติที่สอง ความอ่อนแอของระบบ กระบวนการและแนวทางสำหรับการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ที่ส่งผลให้การดำเนินงานนั้น ไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีความสับสน และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้

มิติที่สาม ความไร้ประสิทธิภาพของบทลงโทษในกรณีที่เกิดการละเมิดกฎระเบียบข้อปฏิบัติ ทำให้คนไม่เกรงกลัวต่อการกระทำความผิด

มิติที่สี่ การขาดกระบวนการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการบริหารราชการ และการวัดประสิทธิภาพของโครงการและยุทธศาสตร์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์และเหมาะสม

มิติที่ห้า ความไม่เพียงพอของทรัพยากรที่จำเป็นในการบริหาร และการขาดศักยภาพของทรัพยากรบุคคล

และมิติที่หก ความไม่ชัดเจนของกรอบกฎหมายที่นำไปบังคับใช้และความไม่สอดรับกับสภาพสังคมของกฎหมายบางฉบับ

ส่วน “ปัจจัยเชิงโครงสร้างและสถาบัน” พบว่า

โครงสร้างและสถาบันทางสังคมนั้น จัดได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยองค์กรต่างๆ ควรจะมีโครงสร้างการทำงานที่เป็นระบบและมีเป้าหมายในการดำเนินงานอย่างชัดเจน การวางผังองค์กรก็ควรจะจัดตั้งตามภารกิจที่ได้รับ

นอกจากนี้ ควรมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเมื่อระยะเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เพื่อให้สามารถที่จะสอดรับกับประเด็นหรือความท้าทายใหม่ที่จะผ่านเข้ามา หน่วยงานได้ที่ไม่ได้มีการวางโครงสร้างไว้ให้ดีก็จะส่งผลให้เกิดการเปลืองทรัพยากรและทำให้ความสามารถในการบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่วางไว้เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดสรรและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึงกรอบการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่แตกต่างกันเพราะการเหลื่อมล้ำกันของงานจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันความและขัดแย้งระหว่างองค์กรจนนำมาซึ่งการละทิ้งหน้าที่ได้ ท้ายที่สุดทำให้เปลืองทรัพยากรที่มีอยู่

การที่หน่วยงานใดมีเป้าหมายการดำเนินงานขัดแย้งกับอีกหน่วยงานหนึ่ง จะส่งผลให้เกิดความไม่ซื่อสัตย์ซื่อตรงในการดำเนินงานได้ อันเนื่องมากจากการเกิดชุดความคิดที่แตกต่างกัน

สำหรับ “ปัจจัยด้านวัฒนธรรม” พบว่า

สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและการรับชุดคุณค่าของบุคลากรตามสภาวะแวดล้อมใหม่ ซึ่งปัจจัยสำคัญประเด็นหนึ่งก็คือ วัฒนธรรม อันหล่อหลอมขึ้นมาด้วยประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่ง และการพัฒนาวัฒนธรรมร่วมสมัยก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้น วัฒนธรรมจึงควรมีการปรับเปลี่ยนตามสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนด้วย

วัฒนธรรมใดที่ให้ความสำคัญกับชุดคุณค่าที่เอื้อต่อความซื่อตรงก็จะทำให้บุคคลที่ยอมรับวัฒนธรรมนั้นสามารถที่จะเติบโตขึ้นมาในทิศทางดังกล่าวได้ แต่วัฒนธรรมใดที่ขาดการหล่อหลอมเรื่องดังกล่าวก็จะส่งผลให้เกิดการไม่รู้จักรับผิดชอบ ซึ่งสามารถที่จะมีอิทธิพลต่อคนรอบข้างได้ด้วยเช่นกัน

เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านปัจจัยเชิงระบบและขบวนการที่มาเลเซียพบแล้ว จะเห็นว่า เป็นสิ่งที่สังคมไทยพูดกันมานานแล้ว และรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ได้บัญญัติไว้ในส่วนที่ ๓ แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และส่วนที่ ๕ แนวนโยบายด้านกฎหมายและการยุติธรรม อย่างครบถ้วน

นอกจากนั้น ยังมีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.๒๕๔๖ แนะนำแนวทางการปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว

ส่วนปัจจัยด้านวัฒนธรรมนั้น พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๕ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๕ ให้บุคคลทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตามวัฒนธรรมแห่งชาติ และต้องผดุงส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ โดยรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมตามประเพณีอันดีงาม และช่วยกันปรับปรุงทะนุบำรุงให้ดียิ่งขึ้นตามกาลสมัย

แต่ทั้งสองเรื่องยังไม่มีผลสัมฤทธิ์ให้เห็น จึงอาจประเมินได้ว่า ข้าราชการของรัฐผู้รับเงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชน ทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำ ยังขาด “ความซื่อตรงในหน้าที่” ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงอธิบายความหมายไว้ในพระราชนิพนธ์ “หลักราชการ” ไว้ว่า

“ความซื่อตรงต่อหน้าที่ คือ ตั้งใจกระทำกิจการ ซึ่งได้รับมอบให้เป็นหน้าที่ของตนนั้นโดยซื่อสัตย์สุจริต ใช้ความอุตสาหวิริยภาพเต็มสติกำลังของตน ด้วยความมุ่งหมายให้กิจการนั้น ๆ บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จโดยอาการอันงดงามที่สุดที่จะพึงมีหนทางจัดไปได้”

สำหรับปัจจัยเชิงโครงสร้างและสถาบันทางสังคมที่มาเลเซียค้นพบ อาจเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีการศึกษาและวาง “ระบบการกล่อมเกลาทางสังคม” (Socialization) มาก่อน จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐควรให้ความสนใจและพิจารณานำมาประยุกต์ใช้ในโอกาสอันควร

แต่เรื่องทั้งหมดนี้จะเริ่มต้นได้ เมื่อทุกคนยอมรับในเบื้องต้นว่า

“คนไทยมีความบกพร่องในเรื่องความซื่อตรง”

---------------------

เขียนให้โพสต์ทูเดย์

๓ ต.ค.๕๓


ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 12:09:49 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 09:22:16 มีการเปิดอ่าน 17463 ครั้ง Share