ความซื่อตรงต่อหน้าที่ราชการ

ความซื่อตรงต่อหน้าที่ราชการ

พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์

เลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา

 

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา มีงานพระราชพิธีออกมหาสมาคม เพื่อให้บุคคลสำคัญของประเทศ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพร เนื่องในวาระอันเป็นมหามิ่งมงคลยิ่งวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ความว่า

“...บ้านเมืองของเราเป็นปึกแผ่นและเป็นปกติสุขซึ่งมาช้านาน เพราะเรามีความยินดียึดมั่นในชาติ และต่างร่วมแรงร่วมใจกันบำเพ็ญกรณีกิจต่างๆ ตามหน้าที่ จนถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด ท่านทั้งหลายในสมาคมนี้ ตลอดจนคนไทยทุกหมู่เหล่า จึงควรที่จะทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนไว้ให้กระจ่าง แล้วตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด...” นับเป็นเรื่องดีที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายท่านได้ออกมาขานรับ ด้วยการให้สัญญาประชาคมผ่านสื่อมวลชนว่า จะน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมนำไปปฏิบัติ แต่ยังไม่ค่อยได้ยินเสียงตอบรับจากฝ่ายข้าราชการประจำซึ่งเป็นบุคคลที่ใช้อำนาจรัฐเพื่อ “ประโยชน์สุขของประชาชน” และนักการเมืองอื่นๆ แสดงท่าทีมากนักในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ทุกคนที่ได้รับฟังพระบรมราโชวาทต้องรีบสำรวจตัวเองและองค์กรของตนทันทีว่า มีสิ่งใดบ้างที่จะต้องได้รับปรับปรุงเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในงานที่รับผิดชอบ แล้วรีบประกาศแก้ไขโดยด่วนอาทิเช่น เรื่องปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ภัยหนาว ที่ทำกินของประชาชน ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การกระจายรายได้-โอกาสให้กับประชาชน ความยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่าง “ซ้ำซาก” เพราะงานเหล่านี้ไม่ใช่ภารกิจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จำเป็นต้อง “บูรณาการ” งานตามภารกิจของส่วนราชการต่างๆ ที่เป็นจุดอ่อนอันสำคัญของระบบราชการไทยในปัจจุบันบางท่านออกมาพูดง่ายๆ ว่า “คิดไม่ถึง” หรือ “คาดไม่ถึง” ซึ่งสะท้อนว่า คนเหล่านี้ทำงานโดยไม่มีการประเมินสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า ทำให้ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้วางเป้าหมายไว้

ถ้าพิจารณาตามหลักจิตสำนึกรับผิดชอบ (Accountability) ในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือธรรมาภิบาลภาครัฐแล้ว บุคคลเหล่านี้ไม่สมควรได้รับความไว้วางใจให้ใช้อำนาจรัฐทำงานเพื่อประชาชนอีกต่อไป เพราะท่านไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่และไม่ซื่อตรงต่อประชาชน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์สุขที่ “พึงมี พึงได้” จากการปฏิบัติหน้าที่ราชการของท่าน

ในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานหลักคิดในเรื่องความซื่อตรงในการปฏิบัติหน้าที่ราชการไว้ในพระราชนิพนธ์ “หลักราชการ” ๒ ประการ ดังนี้

ความซื่อตรงต่อหน้าที่ คือ ตั้งใจกระทำกิจการซึ่งได้รับมอบหมายเป็นหน้าที่ของตนโดยซื่อสัตย์สุจริต ใช้ความอุตสาหวิริยภาพเต็มสติกำลังของตน ด้วยความมุ่งหมายให้กิจกรรมนั้นๆ บรรลุซึ่งความสำเร็จโดยอาการอันงดงามที่สุดที่พึงมีหนทางปฏิบัติได้

และ ความซื่อตรงต่อบุคคลทั่วไป หมายถึง ประพฤติซื่อตรงต่อคนทั่วไป รักษาตนให้เป็นคนควรเขาทั้งหลายจะเชื่อถือได้ โดยรักษาวาจาสัตย์พูดอะไรเป็นมั่น ไม่เหียนหันเปลี่ยนแปลง คำพูดไปเพื่อความสะดวกเฉพาะครั้ง ๑ คราว ๑

หลักคิดทั้งสองประการที่ได้รับพระราชทานนี้ ยังมีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ และสอดคล้องกับตำราการบริหารงานในยุคใหม่ โดยในเรื่องความซื่อตรงต่อหน้าที่ มีสาระตรงกับการปลูกฝังคุณค่าในเรื่อง ความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันหมั่นเพียร และการมุ่งผลสัมฤทธิ์ในงานที่ทำและความซื่อตรงต่อประชาชน มีสาระตรงกับการปลูกฝังคุณค่าในเรื่อง การรักษาวาจาสัตย์ และการสร้างความน่าเชื่อถือศรัทธา อย่างไรก็ดี คุณค่าของข้าราชการที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยปรากฎอยู่ในพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบันมาโดยตลอด แต่ปรากฎว่า ข้าราชการของรัฐ ทั้งข้าราชการฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ยังมี “ข้อบกพร่อง” ในเรื่องนี้มาก

โดยเฉพาะเรื่อง“ความซื่อสัตย์สุจริต” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ ให้กับข้าราชการของรัฐ ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่านนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระ มาโดยตลอด แต่ก็ยังมีข่าวการทุจริตประพฤติมิชอบปรากฎทางสื่อมวลชนอยู่เสมอ

นอกจากนั้น ข้อร้องเรียนของประชาชนที่ผ่านมาทางสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมทั้งองค์กรอิสระต่างๆ ส่วนใหญ่ยังสะท้อนความไม่เอาใจใส่ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ รวมทั้งการใช้อำนาจโดยมิชอบทำให้ประชาชนเดือดร้อน และการละเลยการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์สุข

อย่างไรก็ดี ความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่สำคัญมากอีกประการหนึ่ง คือ การจัดทำกฎหมายไม่เสร็จตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อัน “พึงมี พึงได้” และการบริหารราชการแผ่นดินไม่สัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๒ ได้บัญญัติให้ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ๔ ฉบับ ให้เสร็จภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเวลาผ่านไป ๓ ปีเศษแล้ว มีเพียง ๒ ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภาแล้ว คือ กฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดิน และกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ส่วนอีก ๒ ฉบับ คือ กฎหมายการตรวจเงินแผ่นดินและวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบ ต้องกลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ทันในวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ที่เหลืออีกเพียง ๑ ปี

นอกจากนั้น บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๓ ยังกำหนดกรอบเวลาในการปรับปรุงหรือจัดทำกฎหมายสำคัญเพื่อให้เกิดสิทธิประโยชน์กับประชาชนอีกหลายสิบฉบับ แต่ปรากฏว่า รัฐบาลที่ผ่านมา “ละเลย” การจัดทำกฎหมายเหล่านี้ จนทำให้เกิดปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเองในหลายกรณี

เช่น กรณีสิทธิชุมชนเรื่องสุขภาพอนามัยตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง จากกรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และการทำสนธิสัญญาตามมาตรา ๑๙๐ ที่รัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การจัดให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่าง ฝ่ายบริหาร องค์กรอิสระ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีขึ้น และสมาชิกรัฐสภาทุกคน ที่จะต้องร่วมกันทำให้กฎหมายเหล่านี้เกิดขึ้นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ แบบ “บูรณาการ”

แต่สิ่งที่น่าเสียใจ คือ มีฝ่ายบริหารท่านหนึ่งได้กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติบทลงโทษกรณีจัดทำกฎหมายไม่เสร็จไว้ จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

การพูดเช่นนี้สะท้อนเห็นว่า ฝ่ายบริหารท่านนั้นยังไม่เข้าใจหน้าที่ของตน และขาดวุฒิภาวะของผู้นำระดับสูงด้านจริยธรรมที่ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ถึงแม้ว่าจะไม่มีบทลงโทษก็ตาม

นอกจากนั้น การที่สมาชิกรัฐสภาหลายท่านได้อภิปรายวิพากษ์วิจารณ์ที่มาของรัฐธรรมนูญโดยไม่คำนึงสาระที่ให้สิทธิประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึง ความบกพร่องในการ “ละเว้น” การศึกษาและปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ จนทำให้รัฐธรรมนูญบางมาตราไม่สามารถใช้บังคับได้ตามเจตนารมณ์

ทั้งหมดนี้อาจสรุปได้ว่า เรื่องนี้มีสาเหตุมาจากการที่คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภา ไม่ปฏิบัติตนตามคำปฏิญาณตนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๕ และมาตรา ๑๒๓ ที่ว่า

“...จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

รวมทั้ง ไม่เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดด้วย

ดังนั้น ระยะเวลาที่เหลืออยู่อีกประมาณ ๑ ปีของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ จึงเป็นเวลาที่ฝ่ายบริหารในฐานะผู้บริหารราชการแผ่นดิน ต้องเป็นแกนนำประสานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องการปฏิบัติตามหน้าที่ของตน เพื่อเร่งรัดการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๒ และมาตรา ๓๐๓ บัญญัติ ให้สำเร็จโดยเร็ว

โดยอาจเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมลงนามเช่นเดียวกับ “พันธะสัญญาแห่งความซื่อตรง” (Integrity Pact) ในการปราบปรามการทุจริตก็ได้ และควรจะมีบทลงโทษทางจริยธรรมด้วยว่า

ถ้าทำไม่สำเร็จจากความบกพร่องของผู้ใด

ผู้นั้นต้องถูกสังคมลงโทษให้ “เลิกเป็นข้าราชการของรัฐและนักการเมืองไปตลอดชีวิต”

 

----------------------

เชียนให้ “โพสต์ทูเดย์”

๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๓


ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 12:10:34 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 09:23:58 มีการเปิดอ่าน 2703 ครั้ง Share