ทศพิธราชธรรม

“ทศพิธราชธรรม” 

 

เนื่องในวารดิถีขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชได้พระราชทานพรปีใหม่ให้กับปวงชนชาวไทย ความว่า 

“บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ทุกท่านทุกๆ คน ให้มีความสำเร็จสมประสงค์ในสิ่งที่ปรารถนา  

ความปรารถนาของทุกคน คงไม่แตกต่างกันนัก คือ ต้องการให้ตนเอง มีความสุขความเจริญ และให้บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็น  

ในปีใหม่นี้ ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นคนไทยมีความสุขถ้วนหน้ากัน ด้วยการให้ คือ ให้ความรักความเมตตากัน ให้น้ำใจไมตรีกัน ให้อภัยกัน ให้การสงเคราะห์อนุเคราะห์กัน โดยมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ. ทุกคนทุกฝ่าย จะได้สามารถร่วมมือ ร่วมความคิดอ่านกัน สร้างสรรค์ความสุข ความเจริญมั่นคง ให้แก่ตนและประเทศชาติ อันเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องการให้สำเร็จผลได้ ดังที่ตั้งใจปรารถนา 

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคน ให้มีความสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีภัย ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน.” 

พระราชดำรัสองค์นี้ สะท้อนพระราชปณิธานในการปกครองประเทศด้วย “ทศพิธราชธรรม” ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ใช้ในการปกครอง ตั้งแต่คนส่วนใหญ่ถึงคนส่วนน้อย เป็นธรรมของพระราชาหรือนักปกครอง ๑๐ ประการ และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ทรงพระนิพนธ์อธิบายสาระของ “ทศพิธราชธรรม” ประทานให้แก่ปวงชนชาวไทยในโอกาสวันปีใหม่เมื่อหลายปีมาแล้ว  

คณะกรรมการจริยธรรม วุฒิสภา ขอพระราชทานอัญเชิญพระราชดำรัส และน้อมนำบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราช มาเผยแพร่เป็นพรปีใหม่ใน “มุมจริยธรรม” ให้กับ สมาชิกวุฒิสภา นักการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน ซึ่งเป็นผู้ปกครองคนและถูกปกครอง ได้ยึดถือปฏิบัติ เพื่อความสงบสุขของคนในชาติ และความเจริญก้าวหน้าของประเทศ สมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้ 

๑. ทาน หมายถึง การให้ เป็นการช่วยผู้ที่ต้องการให้ช่วยเพราะมีความขัดข้องแร้นแค้นนั้นๆ เช่น ผู้ที่ขาดอาหารก็ให้อาหารช่วย ขาดที่อยู่อาศัยให้ที่อยู่อาศัยช่วย ขาดหยูกยารักษาโรคให้หยูกยารักษาช่วยรวมความว่า เกิดความแร้นแค้นด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือที่ใดที่หนึ่งก็ให้สิ่งที่ต้องการนั้นๆ ช่วย ดังนี้เรียกว่า ทาน 

 ๒. ศีล คือ ความประพฤติ ต้องเว้นจากความชั่วร้ายทั้งหลาย ความประพฤติอันใดที่เป็นความชั่วร้ายก่อให้เกิดเวร ให้งดความประพฤติอย่างนั้น ไม่ทำสิ่งที่เป็นความชั่วร้ายนั้น ไม่พูดสิ่งที่เป็นความชั่วร้ายนั้น รวมความว่า เว้นการที่ควรเว้นต่างๆ ทั้งทางกายวาจา 

๓. ปริจาคะ การสละ อันหมายความว่า สละสิ่งที่มีประโยชน์น้อยแก่สิ่งที่มีประโยชน์มาก ยกตัวอย่างเช่นว่า สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะร่างกาย เช่น เจ็บป่วยที่อวัยวะร่างกายก็ยอมสละทรัพย์รักษาชีวิตก็ยอม และสละได้ทุกๆ อย่างทั้งทรัพย์ อวัยวะ ร่างกาย ตลอดถึงชีวิตในเมื่อประพฤติธรรม คือ ความถูกต้อง หรือหน้าที่อันต้องปฏิบัติ เช่น ทหารยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อปฏิบัติหน้าที่รักษาประเทศชาติ ดังนี้เรียกว่า บริจาคหรือสละ 

๔. อาชวะ ความตรง คือ ความประพฤติซื่อตรง ไม่คดทรยศต่อมิตรสหาย ต่อหน้าที่การงาน ตลอดจนถึงประชาชน 

๕. มัทวะ ความอ่อนโยน คือ ความมีอาการทางกายวาจา อ่อนโยน สุภาพ ไม่แสดงความแข็งกระด้าง มิใช่หมายความว่า อ่อนแอ แต่ว่าอ่อนโยนสุภาพไม่แสดงความแข็งกระด้าง แสดงการยกตนเหนือผู้อื่น
มีความอ่อนโยน สุภาพทางกายวาจา พูดวาจาอะไรก็อ่อนโยน สุภาพ
 

๖. ตปะ ความเพียร เป็นผู้กล้าหาญในการทำสิ่งที่ควรทำ ไม่กลัวเกรงในการกระทำดังกล่าว ไม่มีความเกียจคร้าน ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสม่ำเสมอไม่บกพร่อง มีความเป็นผู้กล้า มีความเพียร ไม่อ่อนแอย่อท้อ เข้มแข็ง ถ้าทำดังนี้จะเป็นที่ยำเกรงของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่กล้าที่จะละเมิด 

๗. อโกธะ ความไม่โกรธ หมายถึงว่า ความมีจิตที่ประกอบด้วย เมตตามุ่งที่จะปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง ไม่เป็นคนใจน้อย หงุดหงิดง่าย แต่มีใจหนักแน่นไม่คิดจะเอาแต่โทษใคร รู้จักให้อภัยและมีเมตตา 

๘. อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือ การไม่ทำอะไรที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีจิตประกอบด้วยกรุณา คิดช่วยเหลือและทำการช่วยเหลืออยู่เสมอ 

๙. ขันติ ความอดทน คือ รู้จักอดทนต่อความตรากตรำต่างๆ เช่น รู้จักอดทนต่อความหนาว ร้อน หิว กระหาย ทนต่อสิ่งที่เป็นทุกข์ ไม่สนุกต่างๆ อดทนต่อเวลาที่ต้องพบความทุกข์ ตลอดจนถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องมีน้ำอดน้ำทน รู้จักอดทนต่อความเจ็บใจต่อต่อถ้อยคำที่เขามาว่ากล่าวในบางครั้งบางคราวอันจะทำให้เกิดความเจ็บใจ ช้ำใจ ก็ให้มีความอดทน 

๑๐. อวิโรธนะ ความไม่ผิด เมื่อรู้ว่าอะไรผิดก็ไม่ทำ เพราะทุกคนย่อมต้องมีความผิดบ้าง ไม่มากก็น้อย ด้วยสิ่งที่ไม่รู้ซึ่งมีอยู่มากหรืออาจจะพลั้งเผลอทำให้ผิดอยู่บ้าง แต่ว่าอะไรที่รู้ว่าผิดก็ไม่ควรทำ คือไม่ทำผิดทั้งที่รู้ ควรรอบคอบในสิ่งที่จะทำทั้งหลาย ระมัดระวังไม่ให้ผิดหรือจะผิดก็แต่น้อย อีกอย่างต้องรักษาความเที่ยงธรรม ความยุติธรรมในเมื่อเป็นผู้ใหญ่ต้องไม่ลำเอียงเพราะความชัง ความหลง ความกลัวทั้งหลาย ดังนี้ คือ ความไม่ผิด 

ทศพิธราชธรรม หรือ ธรรม ๑๐ ประการ สำหรับพระราชาหรือนักปกครองนี้ บัณฑิตทั้งหลายในอดีต มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ได้ยกขึ้นมาสั่งสอนพระราชาเพื่อให้ใช้หลักธรรม ๑๐ ประการ ปกครองประเทศ เมื่อพิจารณากันให้ถ่องแท้แล้ว ธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นหลักปกครองทั่วไป ผู้มีหน้าที่ปกครองทั้งหลายพึงประพฤติปฏิบัติด้วย 

แม้แต่ผู้อยู่ใต้ปกครอง หรือใต้บังคับบัญชา ตลอดจนถึงราษฎรทั่วไปก็ต้องปฏิบัติตามธรรมทั้ง ๑๐ ประการ ต่อผู้ปกครองและผู้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อผู้ปกครองมีทานให้ ผู้อยู่ใต้ปกครองก็ต้องมีทานตอบสนอง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ฝ่ายปกครองหรือรัฐบาล ใช้จ่ายทรัพย์ทำนุบำรุงประเทศ และอาณาประชาราษฎร์ก็ต้องเสียภาษีอากรให้แก่รัฐบาลเพื่อนำเงินนั้นมาใช้จ่าย เรียกได้ว่า มีทานต่อกัน นอกจากนี้ ต้องมีศีลต่อกัน มีบริจาคต่อกัน มีความซื่อตรง อ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ เมตตาจิตต่อกัน มีความไม่เบียดเบียน ประกอบด้วย กรุณาต่อกัน มีความอดทนต่อกัน มีความประพฤติไม่ผิดต่อกัน เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว จะเกิดความสุขสมบูรณ์เรียบร้อย 

ธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ กล่าวได้ว่า เป็นหลักศาสนา ซึ่งเป็นหลักใหญ่ที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการทุกคนจะต้องพึงยึดถือปฏิบัติอันเป็นความสุขความเจริญแก่ตนเอง แก่ประชาชนส่วนรวม 

ขอให้ผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกระดับ นำทศพิธราชธรรมนี้ไปพิจารณาและใช้เป็นหลักประพฤติปฏิบัติตามสมควร ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงคุ้มครองแก่ทุกๆ ท่านที่อยู่ในทศพิธราชธรรมให้มีความสุข ความสวัสดี ตลอดปีใหม่นี้ทั่วกันเทอญ 

---------------- 

 

พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ 

เลขานุการคณะกรรมการจริยธรรม วุฒิสภา 

๑ ม.ค.๕๔  


ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 16:21:32 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 09:23:23 มีการเปิดอ่าน 2460 ครั้ง Share