วินัยกับจริยธรรม

“วินัยกับจริยธรรม”

 

หลายคนมีความสงสัยว่า “วินัย” กับ “จริยธรรม” มีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗๙ วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย...”

ถ้าดูในพจนานุกรมจะพบว่า “จริยธรรม” หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อควรปฏิบัติ และวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีได้อธิบายเพิ่มเติมว่า

“จริยธรรม” เป็นหนึ่งในวิชาหลักของ วิชาปรัชญา ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความดีงามทางสังคมมนุษย์ จำแนกแยกแยะว่าสิ่งไหนถูกและสิ่งไหนผิด หากจะอธิบายอย่างง่ายๆ แล้ว “จริยธรรม” หมายถึง การแยกสิ่งถูกจากผิด ดีจากเลว

ส่วน “วินัย” หมายถึง ระเบียบที่กำหนดให้ปฏิบัติ และในมงคลชีวิต ๓๘ ประการ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า

“วินัย” หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ข้อบังคับสำหรับควบคุมความประพฤติทางกายของคนในสังคมให้เรียบร้อยดีงาม เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อจะได้อยู่ร่วมกัน ด้วยความสุขสบาย ไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน ให้ห่างไกลจากความชั่วทั้งหลาย

ถ้าพิจารณาตามนิยามข้างต้นจะเห็นว่า “วินัย” เป็นข้อกำหนดเพื่อ “บังคับ” ให้คนในสังคมปฏิบัติตาม จึงมีลักษณะเป็นกฎหรือระเบียบที่มีบทลงโทษที่กำหนดโทษตามลักษณะความผิดที่กระทำอย่างชัดเจน เช่น ในทางทหารกำหนดให้ลงโทษด้วยการทัณฑ์กรรม กัก ขัง จำขัง ส่วนทางพลเรือนใช้มาตรการทางปกครอง ได้แก่ ตัดเงินเดือน ให้ออก ปลดออก เป็นต้น

ส่วน “จริยธรรม” มีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์หรือคำแนะนำที่เป็นเงื่อนไขให้คนในสังคมปฏิบัติตามเพื่อให้สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมนั้นได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีของสังคม เมื่อมีการฝ่าฝืนจะได้รับการตักเตือน หรือ “ลงโทษทางสังคม” ด้วยการระงับมิให้เป็นสมาชิกของสังคมนั้นเป็นการชั่วคราว และโทษสูงสุด คือ การถูกขับออกจากสังคมนั้นอย่างถาวร

ในการพิสูจน์ความผิดจะกระทำโดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหมือนกัน เมื่อพบว่ามีความผิดทางวินัย ผู้บังคับบัญชาตามที่กฎระเบียบกำหนดสามารถใช้ดุลยพินิจลงโทษได้ ส่วนการลงโทษทางจริยธรรมจะต้องเป็นฉันทานุมัติของคนในสังคมนั้น หรืออาจมอบอำนาจให้ลงโทษโดยมติของคณะกรรมการที่ได้รับมอบอำนาจก็ได้

ดังนั้น ถ้ามองผิวเผินแล้วอาจเห็นว่า “จริยธรรม” มีระดับบังคับที่เบากว่า “วินัย” แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่า มีความผิดทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงแล้ว จะถูกลงโทษด้วยการขับออกจากสังคมทำให้ไม่มีคนคบหาด้วย หรือถูกระงับการประกอบอาชีพ ซึ่งเสมือนเป็นการ “ประหารชีวิต” ในการประกอบวิชาชีพนั้นทีเดียว

--------------------

พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์

เลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา


ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 09:20:00 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 09:24:46 มีการเปิดอ่าน 3188 ครั้ง Share