“จริยธรรม” เป็นมาตรฐานในการดำรงชีวิต

“จริยธรรม” เป็นมาตรฐานในการดำรงชีวิต

พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์

เลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี ๒๕๕๐ ได้บัญญัติเรื่อง “จริยธรรม” ไว้เป็นบทบังคับให้เกิดขึ้นในระบบราชการอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก โดยได้บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๒๗๙ มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น

มาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงของการกระทำ

การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และหากเป็นการกระทำผิดร้ายแรงให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ โดยถือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๗๐

การพิจารณา สรรหา กลั่นกรอง หรือแต่งตั้งบุคคลใดเข้าสู่ตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษบุคคลนั้น จะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวด้วย

หลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา ๓ ปีเศษ ทุกส่วนราชการได้จัดทำประมวลจริยธรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่มักจะมีคำถามว่า “จริยธรรม” หมายถึง อะไร

เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความหมายของ “จริยธรรม” จึงขอนำความหมายที่รัฐบาลมาเลเซียอธิบายไว้อย่างสั้นและชัดเจน ในหนังสือ “National Integrity Plan” มาถ่ายทอดต่อ ดังนี้

จริยธรรม (Ethics) คือ ชุดคุณค่าและหลักการอันส่งผลให้เกิดแนวทางมาตรฐานในการปฏิบัติของบุคคล องค์กร หรือวิชาชีพ

จริยธรรมส่วนบุคคล เป็นชุดคุณค่าที่ชี้นำแนวทางการปฏิบัติและพฤติกรรมของบุคคล ทำให้บุคคลนั้นรู้จักแยกแยะผิดชอบ ชั่วดี และสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรกระทำ ซึ่งบุคคลนั้นสามารถที่จะนำชุดคุณค่าดังกล่าวไปใช้ได้กับหน้าที่การงานและกิจวัตรประจำวันเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

จริยธรรมขององค์กร เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในองค์กร อันประกอบด้วยการยึดมั่นในหลักการของความซื่อสัตย์ ความสามารถ ความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และความยุติธรรม (๗ ประการนี้ คือ ค่านิยมหลักของข้าราชการมาเลเซีย...ผู้เขียน) ด้วยเหตุที่องค์กรนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสาธารณะมาก จริยธรรมองค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการส่งเสริมปลูกฝังให้แก่สมาชิกขององค์กรนั้นๆ

จริยธรรมของวิชาชีพ เป็นแนวทางและข้อปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติในวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ นักกฎหมาย นักบัญชี นักข่าว และครูหรือบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งวิชาชีพเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพต้องปฏิบัติตามแนวทางวิชาชีพที่ได้วางเอาไว้

ความซื่อตรง (Integrity) โดยทั่วไปแล้วนั้น คำว่า ซื่อสัตย์ซื่อตรงเป็นการบอกถึงคุณภาพเชิงประจักษ์ของความดีแบบองค์รวมและพฤติกรรมที่มีความสำคัญของบุคคลและองค์กร ความซื่อตรงตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม ชุดคุณค่าที่ดีงาม และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ความซื่อตรงของบุคคล คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการพูดและการกระทำของบุคคล ซึ่งการกระทำดังกล่าวของบุคลนั้นจะเป็นไปตามศีลธรรม คุณธรรม กฎหมาย และไม่เป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม

ความซื่อตรงขององค์กร เป็นสิ่งที่จะชี้ให้เห็นถึงการหล่อหลอมและปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติต่างๆ ตามกระบวนการและภาระงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งแนวทางอันดีในการปฏิบัติขององค์กรนั้นจะต้องได้รับการนำมาปฏิบัติจากสมาชิกในองค์กรจนกระทั่งข้อปฏิบัติเหล่านั้นกลายมาเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นวัฒนธรรมในการปฏิบัติในระยะต่อไป

ความซื่อตรงของหน่วยงานสาธารณะ คือ การที่จะต้องปฏิบัติงานเพื่อตามความรับผิดชอบเพื่อให้เกิดความไว้วางใจแก่ประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานเหล่านี้ต้องไม่ใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อผลประโยชน์ของตนเองหรือญาติสนิทมิตรสหายของตน ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรสาธารณะนั้นพึงสังวรว่างานของตนเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหาใช่ประโยชน์ส่วนตน ดังนั้นแล้วการปฏิบัติงานต้องมีความโปร่งใส จริงใจ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรับผิดชอบ

โดยสรุปแล้ว “จริยธรรม” คือ คุณค่าของคนในสังคมที่ต้องมีการปลูกฝังสั่งสอนจนเป็นลักษณะนิสัย เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการดำรงชีวิตเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณค่าในเรื่อง “ความซื่อตรง” ที่ประกอบด้วย ความซื่อตรงต่อหน้าที่ ความซื่อตรงต่อตนเอง และความซื่อตรงต่อบุคคลทั่วไป ซึ่งเมื่อทุกคนทำได้แล้ว สังคมจึงจะอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่สังคมนั้น

ตีพิมพ์ “มุมจริยธรรม” ในสารวุฒิสภา 

โดย พล.อ.อ. วีรวิท คงศักดิ์

สมาชิกวุฒิสภา สรรหา ภาควิชาชีพ

เลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา

๑ ตุลาคม ๒๕๕๓


ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 09:26:21 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 00:00:00 มีการเปิดอ่าน 4642 ครั้ง Share