พันธะสัญญาแห่งความซื่อตรง

พันธะสัญญาแห่งความซื่อตรง

พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์

เลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา

 

 ก่อนเปิดการประชุม “ต่อต้านคอร์รัปชั่นนานาชาติ” (International Anti-Corruption Conference - IACC.) ครั้งที่ ๑๔ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติติ์  เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำภาครัฐ, ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และตัวแทนภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) ได้ร่วมลงนาม คำประกาศเจตนารมณ์ร่วม ๓ ฝ่ายเพื่อป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

คำประกาศเจตนารมณ์ร่วม ๓ ฝ่าย มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้เอกชนที่เสนอตัวเข้าร่วมการประมูลจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐต้องลงนาม เจตนารมณ์ว่าด้วยความซื่อสัตย์ หรือ Integrity Pact เพื่อ แสดงเจตนารมณ์ว่า บริษัทจะยื่นประมูลงานโดยสุจริต ไม่มีการให้สินบนหรือสมยอมราคา 

และบริษัทต้องเตรียมการภายใน เช่น วางนโยบายและมาตรการเพื่อความมั่นใจว่า คนในบริษัทจะประกอบธุรกิจด้วยความสุจริตและมีระบบควบคุมภายใน โดยจะทำแบบสมัครใจ ซึ่งขณะนี้ทราบว่า มีสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ๒๗ บริษัท พร้อมเข้าร่วมโครงการนำร่องนี้แล้ว

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้กำหนดให้ กระทรวงทั้ง ๒๐ กระทรวง คัดเลือกกรมในสังกัด ๑ กรมเข้าร่วมโครงการนี้ และให้กรมคัดเลือกโครงการที่สำคัญซึ่งเปิดให้เอกชนร่วมประมูล เช่น โครงการที่มีมูลค่าสูง โดยกรมต้องเตรียมระบบตรวจสอบและควบคุมภายใน ไม่ให้เจ้าหน้าที่รับสินบนหรือเงินใต้โต๊ะด้วย

ข่าวนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับปวงชนชาวไทยผู้เสียภาษีให้รัฐ เพราะมาตรการนี้น่าจะช่วยให้ภาษีที่เขาจ่ายเพื่อพัฒนาประเทศที่ “เคย” รั่วไหลไปเข้ากระเป๋าคนกลุ่มหนึ่งปีละประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ได้มีโอกาส “กลับ” มาสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติบ้าง

นอกจากนั้น ลำดับความโปร่งใสที่องค์กรความโปร่งใสโลกจัดลำดับให้ประเทศไทยที่อยู่ลำดับที่ ๗๘ ด้วยคะแนน ๓.๕ คะแนน ซึ่งสร้างความ “อับอาย” ให้กับคนไทยทั้งชาติ ก็น่าจะได้ปรับลดลงบ้าง

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ มีข้อสงสัยจากชาวโลกว่า คนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธซึ่งสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริตและมีเมตตาธรรม “ไม่เห็นแก่ตัว” ทำไมจึงมีการโกงบ้านโกงเมืองกันมากเช่นนี้ และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีศาสนาหลักให้นับถือ แต่มีลำดับความโปร่งใส “เลขตัวเดียว” มาโดยตลอด

หลายคนอาจสงสัยว่า “Integrity pact” คืออะไร ทำไมจึงมีความศักดิ์สิทธิ์มากจนทำให้คนไทยเกิด “ความหวัง” ได้เช่นนั้น

ก่อนอื่นขอแสดงความเห็นในเบื้องต้นว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่บัญญัติศัพท์ Integrity pact ว่า “เจตนารมณ์ว่าด้วยความซื่อสัตย์” เพราะ Integrity มีความหมายลึกซึ้งมากกว่า “ซื่อสัตย์” ที่หมายถึง การรักษาคำพูดเท่านั้น ซึ่งมาเลเซียได้นิยามคำนี้ไว้ใน “แผนความซื่อตรงแห่งชาติ” ว่า

 “การบ่งบอกถึงคุณภาพเชิงประจักษ์ของความดีแบบองค์รวม และพฤติกรรมที่มีความสำคัญของบุคคลและองค์กร ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม ชุดของคุณค่าที่ดีงาม และแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน”

นอกจากนั้น “ความซื่อสัตย์” เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมาเชิญชวนประกาศเจตนารมณ์ว่า “จะซื่อสัตย์” ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมีความเห็นว่า Integrity pact น่าจะหมายถึง “พันธะสัญญาแห่งความซื่อตรง” มากกว่า เพราะจะสะท้อน “ความมุ่งมั่นและความจริงใจ” ที่แข็งกร้าวในการรักษาคำมั่นสัญญาอันสำคัญยิ่งนี้

สำหรับความเป็นมาของ Integrity pact นั้น เกิดจากการที่องค์การเพื่อความโปร่งใสโลก (Transparency International – TI.) ได้เล็งเห็นมหันตภัยของการที่บริษัทคู่สัญญาของรัฐให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการใช้อำนาจรัฐเหนือกว่าผู้อื่น ทั้งการทำธุรกิจกับภาครัฐและการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากรัฐ เช่น สัมปทาน และใบอนุญาตต่างๆ  TI. จึงกำหนดให้มีมาตรการลงนามในสัญญาว่า จะยุติพฤติกรรมเอาเปรียบสังคมด้วยให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

รูปแบบการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจกระทำก่อนได้รับสิทธิประโยชน์ หรือให้สินน้ำใจหลังจากได้รับประโยชน์แล้ว ซึ่งหลายคนคิดว่า กรณีนี้ “ไม่เป็นไร” หรือเป็นการ “กินตามน้ำ” แต่ในข้อเท็จจริงแล้วก็เป็นการกระทำผิดในข้อหาคอร์รัปชั่นเหมือนกัน เพราะเป็นการตอบแทนสร้างไมตรีเพื่อให้ได้งานในอนาคต

การให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำจน “คุ้นชิน” คือ การให้รางวัลตอบแทนที่พัฒนาการมาจากการ “ทิป” (Tipping) ในระบบจ้างงานของสหรัฐอเมริกาที่ลูกจ้างไม่มีเงินเดือน รับแต่ “ทิป” เท่านั้น แต่บ้านเรานำมาใช้เป็น “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” หรือ “หยอดน้ำมัน” เพื่อให้การบริการเร็วขึ้น

เรื่องนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางหน่วยงานถือเป็น “สิ่งพึงมี พึงได้” ถ้าใครไม่ให้หรือให้น้อย ก็จะไม่ได้รับการบริการตามหน้าที่ของบุคคลผู้นั้น ซึ่งความประพฤตินี้จัดเป็นการคอร์รัปชั่นเหมือนกัน เพราะข้าราชการของรัฐถูกจ้างมาด้วยเงินภาษีของประชาชนมาเพื่อให้บริการประชาชน จึงไม่มีสิทธิรับ “ทิป” อีก

ถ้าคิดให้ดี การรับทิปนี้ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติตามฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย และน่าจะเป็นการทำลาย “ศักดิ์ศรี” ของข้าราชการของรัฐ ซึ่งทำงานต่างพระเนตรพระกรรณในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย “เศษเงิน” เล็กน้อยจากผู้ต้องการเอาเปรียบสังคม

ปัญหา “สินบน” ที่รุนแรงขึ้นทั่วโลกนี้ หลายประเทศได้ประกาศว่า การให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็น “อาชญากรรม” (Crime) ที่มีกฎหมายลงโทษแยกจากประมวลกฎหมายอาญา เรียกว่า Bribery Act และมีบทลงโทษที่รุนแรง รวมทั้งมีการลงอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อปราบปรามการให้สินบนข้ามชาติด้วย

บางประเทศมีการตรากฎหมายปรับบริษัทที่ให้เงินสินบนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในรูปของค่าปรับ “ทำลายสังคม” (Social Damage) ซึ่งมีชาวต่างประเทศที่เข้าร่วมประชุมต่อต้านการทุจริตโลกท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ต้องปรับเป็นจำนวนเงินมากๆ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นออกมาต่อต้านมิให้ผู้บริหารบริษัทให้สินบน และอีกท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ต้องมีกฎหมายติดตามเงินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐรับสินบนกลับคืนมาด้วย

ในการประชุมต่อต้านการทุจริตโลกครั้งที่ผ่านมา ประเทศที่เคยใช้ระบบ Integrity pact ได้เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า

อินเดีย - ใช้ระบบเชิญชวนเข้าโครงการเช่นเดียวกับประเทศไทย มี ๓๙ บริษัทเข้าร่วมโครงการ แต่ก็ยังมีรายงานว่า บริษัทยังให้สินบนอยู่โดยอ้างว่าทำให้เสียเปรียบในการดำเนินธุรกิจ จึงมอบให้ TI. อินเดีย ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนจ้างข้าราชการบำนาญเฝ้าระวังและตรวจสอบ หากพบว่ากระทำผิด จะใช้มาตรการลงโทษทางสังคมด้วยการประจานต่อสาธารณะ และห้ามทำธุรกิจกับรัฐตลอดไป

อินโดนีเซีย บังคับให้ทุกบริษัทที่ทำสัญญากับรัฐต้องเซ็นสัญญา Integrity pact มา ๖ ปีแล้ว แต่พบว่า เป็นเพียง “พิธีกรรม” ไม่มีการนำไปใช้จริง เพราะไม่มีบทลงโทษ และได้ให้ความเห็นว่า สินบนเป็นเพียงกระบวนการส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นแล้ว คือ การสร้างความต้องการ “เทียม” ขึ้นมา เพื่อใช้งบประมาณแผ่นดินจัดหาในโครงการที่ไม่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ

บทเรียนจากสองประเทศที่ใช้ Integrity pact นี้ อาจเป็นแนวทางที่ประเทศไทยนำมาประยุกต์ใช้ได้ และหลายท่านที่เข้าร่วมประชุมได้ให้ความเห็นที่ตรงกันว่า กระบวนการนี้เป็นการรณรงค์ให้ผู้ประกอบธุรกิจกับภาครัฐ ตระหนักถึงมหันตภัยในการ “ทำลายชาติ” และยุติการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับต้องสร้างให้เป็น “วัฒนธรรม” ในการดำเนินธุรกิจของชาติ

ในเรื่องนี้ผมมีความเห็นว่า ต้องปลูกฝังให้ข้าราชการของรัฐและผู้บริหารของบริษัท (CEO.) เข้าใจอย่างลึกซึ้งในคุณค่าของ “Integrity” ที่ว่า เป็นคำมั่นสัญญาที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นการวัดความเป็น “มนุษย์” ของทุกคน จึงต้องดำรงรักษาความซื่อตรง ไม่คดไม่โกงไม่ว่ากาลใด เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อถือศรัทธา

ทั้งนี้เพราะ Integrity หรือความซื่อตรงในมิติของบุคคล หมายถึง “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการพูดและการกระทำของบุคคล ซึ่งการกระทำดังกล่าวของบุคลนั้นจะเป็นไปตามศีลธรรม คุณธรรม กฎหมาย และไม่เป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม”

ดังนั้น เมื่อผู้ใดเซ็นสัญญา Integrity pact แล้ว ไม่กระทำตาม โดยยังให้สินบนหรือปล่อยให้คนในองค์กรให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะต้องกลายเป็นคนที่ “ล้มละลาย” ในความเชื่อถือของสังคมทันที

อย่างไรก็ดี การทำให้พันธะสัญญาแห่งความซื่อตรงได้ผลตามวัตถุประสงค์ สังคมไทยต้องเร่งรัดพัฒนาในเรื่อง “มาตรการลงโทษทางสังคม” (Social sanction) ด้วยการ ไม่คบหาสมาคมกับคนที่ไม่ซื่อตรง โกงจนทำให้ “ร่ำรวยจากการคอร์รัปชั่น” และอาจรวมถึงครอบครัวของเขาเหล่านั้นด้วย

ที่สำคัญ คือ พวกเราจะต้องสร้างพลังทางสังคม เพื่อต่อต้านไม่ให้คนประเภทนี้ขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดินนี้ด้วย

 

------------------

เขียนให้ โพสต์ทูเดย์

๒๙ พ.ย.๕๓


ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 09:28:20 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 00:00:00 มีการเปิดอ่าน 2324 ครั้ง Share