จริยธรรมของนักการเมือง

จริยธรรมของนักการเมือง

พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์

เลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา

 

หลายฝ่ายได้ประเมินสาเหตุของวิกฤติของชาติซึ่งเกิดขึ้นใน ๑๐ ปีที่ผ่านมาว่า เกิดจากการที่คนในชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นปกครอง (Elite) ของประเทศ “บกพร่อง” ในเรื่องคุณธรรม จึงมีความประพฤติที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม จนทำให้มีการทุจริต ประพฤติมิชอบ และใช้อำนาจโดยมิชอบมาก

ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๗๙ จึงบัญญัติไว้ว่า

มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น”

นอกจากนั้น ยังบัญญัติให้มีกลไกและระบบในการบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพ และหากเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการ โดยให้ถือว่าเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๗๐

บุคคล “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนด ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง ซึ่งหมายถึง คณะรัฐมนตรี/ผู้ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้บริหาร/สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ตามปกติการจัดทำประมวลจริยธรรมขององค์กรต่างๆ จะนำ “ค่านิยม” ของผู้ตรวจการแผ่นดินมากำหนดมาตรฐานความประพฤติในรูปของพฤติกรรมที่ “ทำและไม่ทำ” (do & don’t) ซึ่งอาจใช้คำว่า “ต้อง” “พึง” หรือ “ควร” นำหน้าแล้วแต่ว่าต้องการบังคับให้ปฏิบัติมากหรือน้อยเพียงใด

มีเพียงประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเท่านั้น ที่กำหนดมาตรฐานความประพฤติจาก “อุดมคติ” ที่คณะกรรมาธิการจัดทำร่างข้อบังคับฯ กำหนดขึ้น และนำเข้าพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็น “มติ” ของที่ประชุมสภา จึงนับได้ว่า เป็น “ฉันทานุมัติ” ที่สมาชิกของแต่ละสภา และยอมรับที่จะนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจนเกิดเป็นลักษณะนิสัยโดยดุษณีภาพ

ตามพจนานุกรม “อุดมคติ” หมายถึง จินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตน ซึ่งประกอบด้วย “คติ” ที่หมายถึง วิธีการหรือแบบอย่าง และ “คุณค่า” หมายถึง คุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ของสิ่งนั้น

ด้วยเหตุนี้ “อุดมคติ” จึงมีบทบาทสำคัญในด้านจริยธรรม เพราะจะสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลนั้นได้อย่างชัดเจน และเมื่อถูกนำมาใช้เป็นเป้าหมายของการพัฒนาจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ก็จะทำให้เห็นการปฏิบัติตนและแบบอย่างที่ดีของคนในสภาอันทรงเกียรติทั้งสองในด้านจริยธรรมได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น “อุดมคติ” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ยังเป็น “สัญญาประชาคม” ที่สมาชิกรัฐสภาทั้งสองให้กับประชาชนว่า พร้อมที่จะประพฤติตนตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัดด้วย

สำหรับ “อุดมคติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ที่ปรากฏอยู่ในข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ.๒๕๕๓ มี ๖ ประการ คือ “ต้อง” เป็นแบบอย่างในเรื่อง

๑) การจงรักภักดีและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

๒) การรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยเคร่งครัด

๓) การปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มขีดความสามารถ ด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต และเสียสละ โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด

๔) การรู้รักสามัคคี

๕) การกล้ายืนหยัดในความถูกต้อง เป็นธรรม ยึดมั่นหลักการในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติใดๆ

๖) การเสริมสร้างสถาบันครอบครัว

ถ้าพิจารณาถึงที่มาของอุดมคติ ๓ ประการแรก จะเห็นว่า มาจาก“คำปฏิญาณตน”ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวไว้เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๒๓ ความว่า

ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

ส่วนอุดมคติ ๓ ประการหลัง มุ่งเน้นให้เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่อง รู้รักสามัคคี กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง และเสริมสร้างสถาบันครอบครัว ซึ่งทั้งสามเรื่องนี้ล้วนเป็นปัญหาสำคัญด้านสังคมของชาติที่ต้องได้รับแก้ไขทั้งสิ้น

จาก “อุดมคติ” ๖ ประการนี้ ได้สังเคราะห์เป็น การปฏิบัติในหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ ๑๕ ข้อ และจริยธรรมเกี่ยวกับการดำรงตน ครอบครัว และผู้อื่นอีก ๘ ข้อ

มีข้อสังเกตว่า การเขียน “รู้รักสามัคคี” ควรติดกัน หรือควรเขียนแยกเป็นคำๆ ว่า “รู้ รัก สามัคคี”

ทั้งนี้เพราะงานวิจัยของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เรื่อง “พระอัจฉริยภาพในการบริหารจัดการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เมื่อปี ๒๕๔๙ ได้เขียนว่า “รู้ รัก สามัคคี” โดยอธิบายว่า

รู้ คือ การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้อง รู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหาและรู้ถึงวิธีการแก้ไขปัญหา

รัก คือ ความรัก เมื่อเรารู้ครบถ้วนกระบวนความ แล้วจะต้องมีความรักการพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นๆ

สามัคคี คือ การที่จะลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงเสมอว่า เราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจกันเป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี”

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของคณะผู้ร่างข้อบังคับฉบับนี้ว่า ต้องการสื่อในเรื่องใด

ส่วน “อุดมคติของสมาชิกวุฒิสภาที่ปรากฏอยู่ในข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการพ.ศ.๒๕๕๓ มี ๔ ประการ ได้แก่

๑) ต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ทั้งสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

๒) ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามและรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

๓) ต้องมีอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างเต็มความสามารถด้วยความรับผิดชอบ ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสูงสุดเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน

๔) ต้องวางตัวเป็นกลางในทางการเมือง

เมื่อพิจารณาอุดมคติของสมาชิกวุฒิสภา ๓ ประการแรก จะเห็นว่า มาจากคำปฏิญาณตนของสมาชิกวุฒิสภาเช่นเดียวกับอุดมคติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนประการที่สี่ได้เพิ่ม ความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา

จาก “อุดมคติ” ๔ ประการนี้ ได้สังเคราะห์เป็นจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ ๘ ข้อ จริยธรรมต่อประชาชน ๒ ข้อ และจริยธรรมเกี่ยวกับการดำรงตน ๗ ข้อ

ถ้าพิจารณาตามสาระแล้ว จะเห็นว่า ประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความสมบูรณ์ที่สามารถใช้เป็น“มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง”ได้ เพราะได้กำหนดอุดมคติไว้อย่างชัดเจนครบถ้วน และเน้นการปฏิบัติที่เป็น “แบบอย่างที่ดี” ในด้านจริยธรรมให้กับสังคม ซึ่งเป็นบทบาทและหน้าที่สำคัญของนักการเมืองในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะ

สำหรับกลไกและระบบการบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพนั้น ทั้งสองสภามอบให้ “คณะกรรมการจริยธรรม” ที่แต่งตั้งขึ้นตามข้อบังคับ โดยกำหนดให้มีหน้าที่ ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามข้อบังคับฯ รวมทั้งพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับจริยธรรมของสมาชิกของแต่ละสภาด้วย

ดังนั้น ประชาชนจึงควรติดตามบทบาทของคณะกรรมการจริยธรรมของแต่ละสภาในการบังคับใช้ประมวลจริยธรรมอย่างใกล้ชิด หากพบว่านักการเมืองผู้ใดมีปัญหาด้านจริยธรรม โดยเฉพาะในกรณีที่สมาชิกรัฐสภาไม่ปฏิบัติตนตาม “อุดมคติ” ที่ให้สัญญากับประชาชนไว้ ก็สามารถร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินหรือคณะกรรมการจริยธรรมของแต่ละสภาได้โดยตรง

และที่สำคัญ คือ โปรดจำชื่อบุคคลผู้นั้นไว้ให้แม่น แล้วอย่าเลือก“คนไร้จริยธรรม”กลับเข้ามาอีก

 

------------------

เขียนให้ โพสต์ทูเดย์

๓๑ ต.ค.๕๓


ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 09:29:20 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 00:00:00 มีการเปิดอ่าน 4128 ครั้ง Share