กองทัพไทย

กองทัพไทย

พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์

เลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา

 

วันอังคารที่ ๑๘ มกราคมที่ผ่านมา เป็น “วันกองทัพไทย” ซึ่งในตอนเช้ากองบัญชาการกองทัพไทยได้จัดพิธีวางพวงมาลาเนื่องในวันกองทัพไทยที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองบัญชาการกองทัพไทย และที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง เพื่อเตือนใจให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าร่วมใจกันน้อมรำลึกถึงวีรกรรม และคุณงามความดีนักรบไทย ที่ได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิต ปกป้องชาติไทยให้รอดพ้นจากภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น มาจนถึงทุกวันนี้

และมีพิธีทางศาสนาเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับดวงวิญญาณของวีระบุรุษทหารกล้า ที่สละชีวิตของตนเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติให้ดำรงคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันด้วย

ในตอนบ่ายมีการประกอบพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล   ที่ตั้งหน่วยทหารของแต่ละเหล่าทัพ  ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งสำหรับ “ทหารใหม่” ที่ผ่านการฝึกจนมีสภาพพร้อมทำการรบแล้ว โดยทุกคนจะเปล่งวาจาปฏิญาณตนต่อธงไชยเฉลิมพลที่หน่วยทหารได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นเสมือนการปฏิญาณตนต่อพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “องค์จอมทัพไทย” ว่า พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจรักษาเอกราชและอธิปไตยของประเทศตามหน้าที่ของตน

โดยคำปฏิญาณตนที่ทหารทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติ มีข้อความดังนี้

ข้าพเจ้า (ยศ)....(ชื่อ).............(นามสกุล).........ขอกระทำสัตย์ปฏิญาณตนว่า

ข้าพเจ้า จักยอมตายเพื่ออิสรภาพและความสงบแห่งประเทศชาติ

ข้าพเจ้า จักอยู่ในศีลธรรมของศาสนา

ข้าพเจ้า จักเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า

ข้าพเจ้า จักรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้าพเจ้า จักเชื่อถือผู้บังคับบัญชา และปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ทั้งจักปกครองแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความยุติธรรม

ข้าพเจ้า จักไม่แพร่งพรายความลับของทางราชการทหารเป็นอันขาด

สำหรับประวัติของกองทัพไทยนั้น มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยมีหลักการจัดการทหารที่ถือว่าพลเมืองชายทุกคน ต้องมีหน้าที่เป็นทหาร ยามสงบบรรดาชายฉกรรจ์เหล่านั้น มีฐานะเป็นพลเรือนประกอบสัมมาอาชีพ แต่ในยามศึกสงคราม จะเปลี่ยนสภาพเป็นทหารเข้าประจำกองทัพเพื่อรบพุ่งกับข้าศึก

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปีพุทธศักราช ๑๙๙๑ ตรงกับ รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการแบ่งแยกกิจการทหารกับพลเรือนออกจากกัน ฝ่ายทหารทรงแต่งตั้งสมุหกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชา มีการจัดกำลังแบ่งเป็น ๔ เหล่า ได้แก่ ราบ (เดินเท้า) ม้า รถ ช้าง หรือที่เรียกว่า จตุรงคเสนา

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๐๘๑ ในรัชสมัยพระชัยราชาธิราช ได้มีการใช้อาวุธที่ทันสมัยในกองทัพ โดยใช้ปืนไฟในการรบกับพม่าเป็นครั้งแรกที่เมืองเชียงกราน และในปีพุทธศักราช ๒๑๙๙ ได้ริเริ่มสร้างปืนไฟขึ้นใช้เอง 

ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ มหาอำนาจตะวันตกเริ่มเข้ามาขยายอิทธิพลในทวีปเอเชียในยุคล่าอาณานิคม กองทัพไทยจึงมีการจัดทำบัญชีพลที่รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อให้ทราบจำนวนไพร่พลที่แน่นอนและง่ายแก่การควบคุมบังคับบัญชาในยามเกิดสงคราม

เนื่องจากประเทศไทยของเรา มีราชอาณาเขตจรดทะเลและมีดินแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงจำเป็นต้องมีทั้งกำลังทางเรือและกำลังทางบกไว้เพื่อปกป้องราชอาณาจักร โดยในระยะแรกนับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา ไม่มีการแบ่งแยกทหารบกและทหารเรือ ใช้กองทัพในลักษณะรวมการปกป้องประเทศชาติตามแต่ว่าจะมีภัยรุกรานจากทางด้านใด

จนกระทั่งในรัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เริ่มนำแนวคิดการนำการจัดกองทัพแบบตะวันตกมาใช้ เพื่อปรับปรุงกิจการทหารบกและทหารเรือ โดยจ้างทหารต่างประเทศเข้ามาพัฒนากองทัพ

การจัดระเบียบกองทัพไปสู่ความทันสมัยที่แท้จริง เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยทรงนำแบบอย่างการจัดแบ่งหน่วยทหารจากสิงคโปร์และปัตตาเวีย มาแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทย เช่น การจัดแบ่งหน่วยทหารในกองทัพเป็นทหารบกและทหารเรือ ปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ในกองทัพ

ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมการบังคับบัญชาทหารบกทหารเรือเป็นกรมยุทธนาธิการ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๐ ซึ่งต่อมาคือกระทรวงกลาโหม นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกเป็นครั้งแรก พระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนนายเรือ การจัดซื้อและสร้างเรือรบ ตลอดจนทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาทหาร ณ ทวีปยุโรป ทำให้กองทัพไทยมีรากฐานในการพัฒนาสู่ความทันสมัยมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนทหารอากาศนั้น ได้มีการก่อตั้งภายหลังเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบิน โดยเป็นหน่วยบินของทหารบกในปีพุทธศักราช ๒๔๕๗ และยกฐานะเป็นกองทัพอากาศในปีพุทธศักราช ๒๔๘๐

สิ่งที่สำคัญ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อปี พ..๒๔๓๐ เพื่อสร้าง นายทหารหลัก ทำหน้าที่ ดูแลทุกข์สุขของทหาร และควบคุมนำกำลังทหารเข้าต่อต้านข้าศึก โดยกำหนดให้มีคุณลักษณะของ นายทหารหลัก๔ ประการ คือ ความรู้ความสามารถในการยุทธสงคราม มีไหวพริบดี มีอัธยาศัยมั่นคง และอยู่ในความเที่ยงธรรม ซึ่งนับได้ว่าเป็นการกำหนด ค่านิยมของทหารอาชีพเป็นครั้งแรก

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสว่า

...การตั้งนายทหารสัญญาบัตรจึงเป็นการสำคัญอย่างยิ่งในราชการทหาร และเนื่องจากการแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์ หรือผู้มีความชอบ มีไหวพริบดี ขึ้นเป็นนายทหารยังไม่เป็นการเพียงพอ อีกทั้งไม่ได้รับการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถในการยุทธสงครามอีกด้วย... 

จากพระราชดำรัสนี้จะเห็นว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับความรู้ความสามารถในเรื่องการยุทธการสงครามของนายทหารมากกว่าความชอบด้านอื่นหรือแม้เป็นเชื้อพระวงศ์ก็ตาม เพราะผู้บังคับบัญชาทหารต้องมีคุณลักษณะพิเศษที่เหมาะสมกับภารกิจที่อาจแตกต่างกัน ไม่ใช่แต่งตั้งกันตาม “อำเภอใจ” ของผู้มีอำนาจ

ดังนั้น จึงเป็นการสมควรที่ทหารในยุคปัจจุบันจะรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมน้อมนำพระราชดำรัสนี้ ไปใช้เป็นหลักในการบริหารกองทัพด้วย

มาถึงวันนี้ บทบาทของทหารที่เคยเป็นกำลังหลักในการรักษาอธิปไตยของชาติตลอดมา ได้เปลี่ยนเป็น “เครื่องมือชิ้นสุดท้าย” ในระบบการบริหารของรัฐสมัยใหม่ในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องใช้ “นักการเมือง” ที่มีคุณภาพ มากำหนดนโยบายการเมืองภายในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกหลักในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยมีปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และพลังงาน เป็นพลังอำนาจของชาติที่ต้องจัดเตรียมไว้ เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์

สิ่งที่สำคัญของรัฐสมัยใหม่ในระบอบประชาธิปไตย คือ ต้องมี “ยุทธศาสตร์ชาติ” เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ คือ ความมั่นคง ความมั่งคั่ง และความมีเกียรติ์ศักดิ์ศรีในเวทีการเมืองโลก ที่สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และประสานสอดคล้องกันระหว่างกำลังอำนาจของชาติด้านต่าง ๆ

โดยมีผู้บริหารประเทศที่มาจาก “นักการเมือง” เป็นผู้ตัดสินใจเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ ให้สอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ซึ่งบุคคลผู้นี้ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในงานความมั่นคงของชาติระดับ “มืออาชีพ” ประเทศชาติจึงจะดำรงคงอยู่ได้

บทเรียนจากความผิดพลาดในการบริหารงานด้านความมั่นคงภายในประเทศเมื่อต้นปีก่อน จนต้องใช้เครื่องมือชิ้นสุดท้ายโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ทำให้ขาดความพร้อมจนเกิดการสูญเสียมากเกินคาด และการบริหารสถานการณ์ชายแดนในช่วงปลายปีที่ผ่านมาซึ่งไม่ค่อยประสานสอดคล้องกันนัก

ปัจจัยเหล่านี้ เป็นสิ่งบอกเหตุที่ผู้บริหารกองทัพไทยต้องหันกลับมาทบทวน “ยุทธศาสตร์ทหาร” ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเตรียมกำลังทหารให้พร้อมตามยุทธศาสตร์เหล่านั้น

รวมทั้ง ต้องกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง “เตือน” ผู้บริหารประเทศที่อาจไม่รู้ธรรมชาติและศักยภาพของกองทัพที่แท้จริง ก่อนที่จะต้องใช้ “เครื่องมือชิ้นสุดท้าย” โดยไม่จำเป็นและไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า

 

------------------

เขียนให้ โพสต์ทูเดย์

๒๔ ม.ค.๕๔


ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 09:31:18 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 00:00:00 มีการเปิดอ่าน 2568 ครั้ง Share