ชมรมซื่อตรง

ชมรมซื่อตรง

พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์

 

เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ได้ริเริ่มโครงการศึกษานวัตกรรมการสร้างความซื่อตรงในกลุ่มเยาวชน หรือ “ชมรมซื่อตรง” (Integrity Club) ขึ้น โดยเชิญชวนให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่าในทุกสถานศึกษา เสนอโครงการจัดตั้งชมรมภายในเดือนพฤษภาคม และจะพิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินกิจกรรมจำนวน ๑๐๐ ชมรมๆ ละ ๘,๐๐๐ บาท

แนวคิดนี้ เกิดจากการที่สำนักวิจัยและพัฒนา ได้ทำงานวิจัยให้กับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) และวุฒิสภา ในเรื่อง “การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความซื่อตรงในสังคมไทย” เพื่อจัดทำตัวชี้วัดด้านความซื่อตรงและร่างแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติแล้ว พบว่า สังคมไทยขาดความตื่นตัวในเรื่องการเสริมสร้างความซื่อตรงให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม จึงริเริ่มโครงการนี้ขึ้น

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ มี ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อเสริมสร้างความซื่อตรงในกลุ่มเยาวชน (๒) เพื่อสนับสนุนเยาวชนที่ประสงค์จะดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความซื่อตรงร่วมกันได้มีโอกาสทำกิจกรรม โดยมีการนำแนวพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมาปฏิบัติให้เป็นผล และ(๓) เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ในการเสริมสร้างความซื่อตรง

อย่างไรก็ดี ในการสัมมนานำเสนอผลการวิจัยเรื่องนี้เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยได้เสนอว่า ปัญหาที่พบ คือ คนไทยมีความรู้ในเรื่องของ “ซื่อตรง” หรือ “Integrity” น้อย และมีความเข้าใจความหมายที่ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) ในเรื่องนี้ ยังมีข้อบกพร่องอยู่

คำว่า “Integrity” พจนานุกรม ฉบับ สอ.เศรษฐบุตร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช จำกัด เมื่อปี ๒๕๔๐ ให้ความหมายสั้นๆ ว่า “ซื่อสัตย์มั่นคง, ความมั่นคง”

ท่านองคมนตรี ศาสตราจารย์ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้อธิบายความหมายของ “Integrity” ไว้ในหนังสือ “คุณธรรมและจริยธรรมของผู้บริหาร” เมื่อปี ๒๕๕๐ ว่า

Integrity” มีรากศัพท์มาจากคำภาษาลาตินว่า “Integer” ซึ่งแปลว่า “Wholeness” หรือความครบถ้วนสมบูรณ์, ความเป็นจำนวนเต็ม ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็จะได้ความหมายที่ลึกซึ้งว่า “คนที่จะเป็นคนเต็มคน” นั้นจะต้องมี “Integrity” เป็นคุณธรรมประจำตัว...”

พร้อมกันนั้น ท่านองคมนตรีได้ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ซึ่งถือว่า “เด็กดี” สำคัญและต้องมาก่อน “เด็กเก่ง” จึงปลูกฝังค่านิยม ๗ ประการ คือ สัจจะพูดความจริง (Truth) ความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty) ความสำนึกในหน้าที่ (Sense of Duty) ความอดกลั้น (Patience) ความเป็นธรรม (Fair play) ความเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Consideration for others) และเมตตาธรรม (Kindness) เมื่อบุคคลใดมีครบถ้วนก็ถือได้ว่าเป็นผู้มี “Integrity”

อย่างไรก็ดี ท่านองคมนตรีธานินทร์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “Integrity” มีความหมายรวมถึง ความหนักแน่น ความน่าเชื่อถือ ความยึดมั่นในหลักการและความถูกต้อง จึงให้ความหมายในทัศนะของท่านว่า “การยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม”

คู่มือจริยธรรมของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา (1991) ได้อธิบายลักษณะของ Integrity ว่า เป็นเรื่องที่ฝังลึกในจิตใจของคนซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ถูกต้องทั้งต่อหน้าและลับหลัง และยกตัวอย่างกรณีผู้ชายมีถุงเท้าขาด ถ้าเขายินดีสวมใส่ตามสภาพที่มี โดยไม่สนใจว่า วันนี้จะต้องถอดรองเท้าซึ่งทำให้คนเห็นว่าเขาใส่ถุงเท้าขาดหรือไม่ คนลักษณะนี้นับว่าเป็น คนที่มี Integrity 

ในทางตรงข้าม ถ้าบุคคลใดคิดว่า วันนี้จะไม่ถอดรองเท้าที่ใดเลย ดังนั้น จึงใส่ถุงเท้าที่ขาดก็ได้ เพราะไม่มีผู้ใดเห็น คนลักษณะนี้นับได้ว่า “เป็นคนไม่มี Integrity” เนื่องจากไม่ซื่อตรงในความคิดแม้กระทั่งกับตนเอง

ทางด้านหลักพระพุทธศาสนา ท่านพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ อินฺทปัญฺโญ) ได้แสดงปาฐกถาธรรมชุด “เปลี่ยนคนให้เป็นมนุษย์” เมื่อปี ๒๕๒๔-๒๕๒๕ ว่า “คนต้องมีศีลธรรมจึงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” โดยอธิบายความหมายของ “ศีลธรรม” (Morality) ว่า “การทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ”

พร้อมกันนั้น ท่านได้อธิบายว่า “มนุษย์” คือ คนที่มีจิตใจสูง รู้เหตุผล และเน้นย้ำว่า จะต้องมี “ปรมัตถธรรม” (Ethics) ที่อธิบายเหตุผลเชิงปรัชญาของการปฏิบัติตามศีลธรรมนั้นด้วย เพื่อให้คนเชื่อถือศรัทธายึดถือปฏิบัติจนเป็นลักษณะนิสัย จึงจะทำให้คนนั้นได้รับการพัฒนาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ใน “ทศพิธราชธรรม” หรือธรรมของชนชั้นปกครอง (Elite) มีสาระที่เกี่ยวกับ ความซื่อตรง ๒ ประการ คือ “อาชวะ” และ “อวิโรธนะ” ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงอธิบายว่า

“อาชวะ” หมายถึง ความตรง คือ ความประพฤติซื่อตรง ไม่คดทรยศต่อมิตรสหาย ต่อหน้าที่การงาน ตลอดจนถึงประชาชน

และ “อวิโรธนะ” หมายถึง ความไม่ผิด เมื่อรู้ว่าอะไรผิดก็ไม่ทำ เพราะทุกคนย่อมต้องมีความผิดบ้าง ไม่มากก็น้อย ด้วยสิ่งที่ไม่รู้ซึ่งมีอยู่มากหรืออาจจะพลั้งเผลอทำให้ผิดอยู่บ้าง แต่ว่าอะไรที่รู้ว่าผิดก็ไม่ควรทำ คือไม่ ทำผิดทั้งที่รู้

นอกจากนั้น ใน “หลักราชการ” ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงนิพนธ์พระราชทานให้กับข้าราชการ เนื่องในวันสงกรานต์เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๗ มีสาระเกี่ยวกับความซื่อตรง ๒ ประการ คือ

ความซื่อตรงต่อหน้าที่ คือ ตั้งใจกระทำกิจการ ซึ่งได้รับมอบให้เป็นหน้าที่ของตนนั้นโดยซื่อสัตย์สุจริต ใช้ความอุตสาหวิริยภาพเต็มสติกำลังของตน ด้วยความมุ่งหมายให้กิจการนั้น ๆ บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จโดยอาการอันงดงามที่สุดที่จะพึงมีหนทางจัดไปได้

และ “ความซื่อตรงต่อบุคคลทั่วไป คือ ความประพฤติซื่อตรงต่อคนทั่วไป รักษาตนให้เป็นคนควรเขาทั้งหลายจะเชื่อถือได้ โดยรักษาวาจาสัตย์พูดอะไรเป็นมั่น ไม่เหียนหันเปลี่ยนแปลง คำพูดไปเพื่อความสะดวกเฉพาะครั้ง ๑ คราว ๑

จากที่กล่าวมาพอเป็นสังเขป จะเห็นว่า “ความซื่อตรง” เป็นคุณค่าที่ควรสร้างให้กับคนในสังคมเพื่อให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์” เช่นเดียวกับ “Integrity” ของสังคมตะวันตก โดยกำหนดลักษณะของคนซื่อตรงได้ว่า

“มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ให้สำเร็จตามภารกิจอย่างงดงาม ด้วยความมุ่งมั่น ขยัน อดทน และยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ความถูกต้อง ชอบธรรม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง”

สำหรับค่านิยมที่พึงปรารถนานั้น ควรมีการปลุกจิตสำนึกในคุณค่า ๕ ประการ คือ (๑) ความซื่อสัตย์ สุจริต (๒) ความวิริยะอุตสาหะ (๓) ความมุ่งมั่นในผลสัมฤทธิ์ของงาน (๔) การรักษาวาจาสัตย์และคำมั่นสัญญา และ (๕) ทำตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไป

เป็นที่น่าชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการของสถาบันพระปกเกล้านี้ ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน จึงมีความเชื่อมั่นว่า จะได้รับการตอบรับจากสถานศึกษาต่างๆ เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี การสร้างความซื่อตรงในหมู่เยาวชนนี้ จะไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลย ถ้าไม่รับความร่วมมือจากพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ ในการให้กำลังใจและทำตนเป็น “แบบอย่างที่ดี” ในเรื่องความซื่อตรง จึงต้องขอความร่วมมือจากพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ในเรื่องนี้ไว้ด้วย

มาถึงวันนี้ กระแสความซื่อตรงในสังคมไทยได้เริ่ม “จุดติด” ในภาครัฐโดย “โครงการองค์กรต้นแบบความซื่อตรงในภาครัฐ” ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว และจะเกิด “ชมรมซื่อตรง” ขึ้นในกลุ่มเยาวชนตามโครงการของสถาบันพระปกเกล้าครั้งนี้อีก

ดังนั้น ภาคส่วนอื่น เช่น ส่วนราชการต่างๆ ภาคการเมือง ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคอื่นๆ ควรให้ความสนใจกับการริเริ่มสร้าง “ชมรมซื่อตรง” บ้าง ประเทศไทยที่รักของพวกเราจะได้พัฒนาไปสู่ “สังคมโปร่งใส คนไทยซื่อตรง” เช่นเดียวกับนานาอารยะประเทศในเร็ววัน

------------------

เขียนให้ โพสต์ทูเดย์

๒๘ ก.พ.๕๔


ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 09:37:06 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 00:00:00 มีการเปิดอ่าน 3422 ครั้ง Share