หลักธรรมาภิบาลใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติที่ยอมรับของสังคมได้จริงหรือ? - ศาสตราจารย์วิรัติ พาณิชย์พงษ์


พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นเวลากว่า ๓๐ ปีแล้วที่ยังไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นปัญหาต่อผู้บริหารแพทยสภาทั้งในเรื่องคุณภาพวิชาการและมาตรฐานวิชาชีพ รวมถึงจรรยาของแพทย์ซึ่งต้องยึดถือปฏิบัติสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และเพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติที่นำไปสู่การยอมรับของสังคม แพทย์จะต้องปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล ๖ ประการ ดังนี้ 

๑. จริยธรรมแห่งวิชาชีพของแพทย์ คือ ต้องมีกระบวนการศึกษาเป็นขั้นตอนตั้งแต่การคัดเลือกผู้เรียน การจัดกระบวนการเรียนการสอนซึ่งต้องผ่านการประเมินของคณะกรรมการคณะแพทยศาสตร์และที่สำคัญต้องมีกระบวนการปฏิญาณตนและน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย)  “เห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอันดับแรก” 

๒. ยึดหลักนิติธรรม คือแพทย์จะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาก่อนจึงจะมีสิทธิทำเวชกรรมได้และต้องประกอบวิชาชีพภายใต้กฎหมายทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น 

๓. การมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ซึ่งจะต้องแจ้งให้ผู้ป่วยและญาติทราบผลการรักษาและยอมรับการวินิจฉัยและต้องทำบันทึกเวชระเบียนเป็นหลักฐานด้วย 

๔. มีการตรวจสอบประเมินผลการรักษาเป็นระยะเพื่อสามารถปรับเปลี่ยนการรักษาได้ตามสถานการณ์ของโรคในผู้ป่วยแต่ละคนที่มีภูมิคุ้มกันต่างกัน 

๕. เวชระเบียนต้องถูกต้องสมบูรณ์และสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส 

๖. แพทย์ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลการตรวจวินิจฉัยของตน และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการรักษาของตนที่มีต่อผู้ป่วยจึงต้องมีการรับผิดชอบร่วมกันของแพทย์ ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย 

แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการปฏิบัติงานจริง ต้องยอมรับด้วยว่าศักยภาพของโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ความไม่เพียงพอของบุคลากร อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์มีผลทำให้ภาระงานของแพทย์มีมากจนเกินขีดความสามารถของแพทย์แต่ละคนจึงเป็นผลให้แพทย์ไม่สามารถรักษามาตรฐานในการรักษาหรือการตรวจวินิจฉัยคนไข้ของตนได้  เป็นเหตุให้ถึงแม้ว่าแพทย์จะประกอบอาชีพโดยยึดหลักธรรมาภิบาลทั้ง ๖ ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถลดความเสี่ยงจากการประกอบวิชาชีพแพทย์ได้ ดังจะเห็นได้จากแพทย์ที่ถูกดำเนินการฟ้องร้อง 

ในเวชปฏิบัติต้องทุกข์ทรมานกับการต่อสู้คดีซึ่งต้องใช้เวลายาวนานนอกจากจะเสียเวลา เสียทรัพย์สิน ยังอาจถูกจำคุกได้อีกด้วย 


ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 17:04:55 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2557 09:59:51 มีการเปิดอ่าน 2508 ครั้ง Share