การรักษาพันธุ์ช้างไทย - นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ



หลายภาคส่วนร่วมมือรักษาพันธุกรรมช้างโดยการผสมเทียมช้างไทยชื่อพลายปฐมสมภพสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิของสัตว์ จัดที่อยู่ถาวรให้กับช้าง 

ปัญหาช้างบ้านหรือช้างเลี้ยง ถูกนำมาเร่ร่อนตามเมืองใหญ่ๆ คนเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่า โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ  ทำให้ช้างขาดแคลนอาหารและที่อยู่ รวมทั้งการผสมพันธุ์กันในหมู่เครือญาติเป็นเหตุให้สายพันธ์มีความอ่อนแอ และความสง่างามตามสายพันธุ์ของช้างไทยอาจถูกทำลายลงไปได้ 
ดิฉันและเพื่อนๆ จึงร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้างขึ้นมา และดิฉันทำหน้าที่เป็นประธานมูลนิธิ เพื่อช่วยเหลือและอนุรักษ์ช้างมาอย่างต่อเนื่องกว่า ๒๐ ปี และได้เข้ามีส่วนร่วม คือ 
๑) จัดทำโครงการน้ำเชื้อช้างแช่แข็ง คือ การนำน้ำเชื้อช้างเพศผู้ที่มีลักษณะพันธุกรรมที่ดีมาแช่แข็ง เก็บเอาไว้เพื่อใช้ในการผสมเทียม  ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถทำน้ำเชื้อช้างแช่แข็งได้สำเร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ จนได้ลูกช้างพลายที่มาจากการผสมเทียมเป็นครั้งแรกของไทย และของโลก เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๐ และได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า “พลายปฐมสมภพ” ปัจจุบันมีอายุ ๖ ปีแล้ว นับเป็นสิ่งที่มูลนิธิฯ ภาคภูมิใจอย่างมาก
๒) ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายในเรื่องสิทธิของสัตว์ การป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ และการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนช้าง ตั๋วรูปพรรณ คือให้มีการจดทะเบียนสำหรับลูกช้างเกิดใหม่ทันที เพื่อป้องกันการซื้อขายลูกช้างไปยังต่างประเทศ 
๓) “โครงการที่อยู่ถาวรของช้างไทย” ซึ่งมูลนิธิฯ ดำเนินงานในส่วนของการจัดหางบประมาณให้กับทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อจัดหาสถานที่รองรับช้างแร่ร่อนในพื้นที่ภาคกลาง  

ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 17:08:05 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 05:11:48 มีการเปิดอ่าน 2912 ครั้ง Share