ธนาคารความดี - พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์


ในสังคมปัจจุบันมักมีคำถามอยู่เสมอว่า 
“ความดี คืออะไร” 
“ความดีมีจริงหรือไม่” 
“ทำความดีแล้วได้อะไร” 

ด้วยเหตุนี้ พระครูสุจินกัลป์ยาณธรรม รองเจ้าคณะอำเภอพานจังหวัดเชียงรายจึงร่วมมือกับนายวินัย เครื่องไชย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวง้ม อำเภอพาน และนายถวัลย์ ไชยปัญโญ กำนันตำบลหัวง้ม จัดตั้ง “ธนาคารความดี” ขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนในตำบลสามารถแสวงหาคำตอบและมีความมั่นใจว่า “ความดี มีจริง สัมผัสได้ และคนที่ทำความดีต้องได้รับสิ่งตอบแทนความดี” 

แนวคิดของ “ธนาคารความดี” ประยุกต์จากรูปแบบของกองทุนหมู่บ้านและธนาคารพาณิชย์มาเป็นแนวทางในการดำเนินการ โดยใช้คำขวัญว่า “ทำความดีสร้างค่าความเป็นคน ยามขัดสนเราให้แลกเป็นสิ่งของ” การดำเนินงาน ธนาคารได้แบ่งสมาชิกเป็น ๒ ประเภท คือ สมาชิกสามัญ และสมาชิกกิตติมศักดิ์  

  • สมาชิกสามัญ หมายถึง นักเรียน ประชาชนทั่วไป  สามารถฝาก-ถอน ความดีได้ตามเงื่อนไขของธนาคาร 
  • สมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายถึง กลุ่มผู้นำชุมชน พระสงฆ์ สมาชิก อบต. พนักงาน แม่บ้าน ข้าราชการ และหน่วยงาน ซึ่งสมาชิกประเภทนี้ฝากได้แต่ถอนไม่ได้  

ในการฝากความดี สมาชิกสามารถฝากความดีได้ทั้งแบบ “สะสม” และแบบ “สัจจะ” โดยความดีประเภทเว้นจากการละเมิดศีลห้าของพระพุทธศาสนาและการเลิกข้องเกี่ยวกับอบายมุข ต้องฝากโดยตั้งสัจจะอธิษฐานที่จะตั้งมั่นในการทำความดีต่อหน้าพระรัตนตรัยส่วน“การถอนความดี” สมาชิกที่ต้องการถอนความดี ต้องมีความดีสะสมไม่น้อยกว่า ๒๕๐ ความดี และต้องมีความดีเหลือไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ความดี โดยเหตุแห่งการถอนความดี ได้แก่ 

  1. ไม่สามารถทำความดีได้ตามที่ฝากความดีไว้ 
  2. ถอนความดีเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของตามอัตราความดีที่กำกับไว้กับสิ่งของนั้น 

ความดีที่สมาชิกนำมาฝากนั้น แบ่งเป็น เพื่อตนเอง และเพื่อสังคม โดยธนาคารฯ ได้แนะนำให้สมาชิกนำ “เบญจศีล” หรือศีลห้า มาเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางกาย วาจา “เบญจธรรม” มาน้อมนำจิตใจในการทำความดีของตนเอง แล้วเปลี่ยนความดีเป็น “คุณค่า” ให้เป็นมูลค่าที่สามารถจับต้องได้เพื่อนำมาฝากธนาคารความดี 

ดังนั้น “ธนาคารความดี” เป็นรูปแบบของการสอนและรณรงค์ให้คนในสังคมทำความดีด้วยการใช้ กลยุทธ์ที่ทำให้เกิดพันธะสัญญากับตนเองและสังคมว่า “จะรักษาความดีนั้นอย่างมั่นคง” หากไม่สามารถทำความดีได้ในบางช่วงก็สามารถถอนความดีที่เคยสัญญาไว้ได้ ซึ่งรูปแบบของธนาคารความดีนี้สามารถนำมาใช้ ในองค์กรหรือสังคมแม้กระทั่งครอบครัวและตนเองได้ โดยอาจกำหนดลักษณะความดีพึงประสงค์ตามบริบทของสังคม และเชิญชวนให้ “ลดละเลิก” การกระทำความไม่ดีที่สังคมกำหนด ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความตระหนักว่า "ทำดี ง่ายนิดเดียว"


ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 17:11:03 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 12:09:08 มีการเปิดอ่าน 3290 ครั้ง Share