การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

บทความ การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดย พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์

การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

 

วีรวิท  คงศักดิ์

 

 

          ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของภาครัฐในการต่อต้านคอร์รัปชั่นกันขนานใหญ่

โดยคาดหวังว่าระดับความโปร่งใสของประเทศไทยที่ตกต่ำอยู่ที่ ๓.๓-๓.๕ มานาน จะเพิ่มขึ้นเป็น ๕.๐ ในปีหน้า

 

          เริ่มจากในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศ “ยุทธศาสตร์และ

แผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” ซึ่งเป็นการขยายผลตามนโยบายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของรัฐบาลที่กำหนดไว้ว่า จะดำเนินการอย่างจริงจังในปีแรก

 

          เมื่อได้อ่านยุทธศาสตร์การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลแล้ว ต้องยอมรับว่า มีมาตรการที่

“ดูดี” มาก  ตั้งแต่ การปลุกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้  การพัฒนาองค์การ  การเปิดให้ประชาชน

มีส่วนร่วม  การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย  การตรวจสอบเฝ้าระวังเชิงรุก  ไปจนถึง การปราบปรามที่จริงจัง

และการลงโทษที่เข้มงวด

 

          สิ่งที่น่าชื่นชม คือ แต่ละแนวทางมีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมาก เช่น การเร่งรัดการลงโทษภายใน ๑๒๐ วัน และการประกาศลงโทษให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อสร้างความตื่นตัวและเกรงกลัวการกระทำการทุจริต

ควบคู่ไปกับการให้โอกาสกับผู้ที่ต้องการกลับตัวอย่างแท้จริง เป็นต้น

 

          พร้อมกันนั้น ได้กำหนดปฏิทินการทำงานอย่างชัดเจน ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ไปจนถึง

ปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะประกาศความสำเร็จในรอบ ๑ ปี โดยกำหนดให้มีการประชุมติดตามงานกับนายกรัฐมนตรีทุก ๒-๓ เดือน ทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบและติดตามประเมินผล

 

          เห็นอย่างนี้ต้องยอมรับว่า ครั้งนี้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร “เอาจริง” กับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีรัฐมนตรีนิวัติธำรง บุญทรงไพศาล และ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. คนที่สังคม

เชื่อว่า ซื่อสัตย์สุจริต เป็นขุนศึกคู่ใจ  ทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังว่า จะเห็นการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งเป็น  “มะเร็งร้าย” ของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยหมดไป ตามที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายไว้

 

          ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ใช้โอกาสนี้นำระบบธรรมาภิบาล (Good Governance) ในภาครัฐ

ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.๒๕๔๖ แต่ไม่มี

ส่วนราชการใดนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง มา “ปัดฝุ่น”

 

โดยจัดทำ โครงการ “สร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ” ภายใต้แผนการส่งเสริมและพัฒนา   ธรรมาภิบาลในภาคราชการ เพื่อการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีอย่างยั่งยืน และแผนงานเชิงรุก             ตามยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล

 

โครงการนี้ จัดให้ผู้นำส่วนราชการระดับกรม ๓๕๙ หน่วยงาน และ ๗๖ จังหวัด มาเข้ากระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง (Action Learning) ๖ ขั้นตอน คือ (๑) สร้างความตระหนัก  (๒) จัดทำข้อเสนอ (๓) ริเริ่มข้อเสนอเพื่อปรับปรุง (๔) แปลงข้อเสนอสู่การปฏิบัติจริง (๕) ติดตามความก้าวหน้า ประเมินผลสำเร็จ และ (๖) ขยายผลพัฒนา ซึ่งถ้าทำได้เช่นที่วางแผนไว้ เราจะได้เห็น “รอยยิ้มของประชาชน”

 

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า ระยะเวลาของโครงการนี้ใช้เวลาประมาณ ๑๒ เดือน ระหว่างเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ถึงเมษายน ๒๕๕๖ ซึ่งจะต้องผ่านวาระการเกษียณอายุราชการและโยกย้ายประจำปี ทำให้การดำเนินการตามโครงการอาจไม่ต่อเนื่อง หากผู้รับผิดชอบถูกโยกย้ายพ้นจากตำแหน่ง

 

แนวทางแก้ไขปัญหานี้ นายกรัฐมนตรีต้อง “กล้า” ใช้อำนาจตามกฎหมาย กำหนดนโยบาย “ห้ามย้าย” บุคคลตามโครงการออกจากตำแหน่งจนกว่าจะสิ้นโครงการในเดือนเมษายน ๒๕๕๖

 

          ต่อมาเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

แห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดการสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาเรื่อง “มาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย”

ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ใช้เวลาศึกษานานกว่า ๒ ปี

 

          “การทุจริตเชิงนโยบาย” (Policy Corruption) เป็นการทุจริตรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะซับซ้อนและแยบยล เกิดขึ้นจากผู้กำหนดนโยบายสาธารณะ คือ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่

ในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการตรากฎหมาย ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ออกกฎ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรี

 

โดยให้ความเห็นชอบ อนุมัติ หรืออนุญาตการดำเนินโครงการลงทุนของรัฐขนาดใหญ่ หรือ Mega Project และโครงการของรัฐบาลที่ใช้จ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก ทั้งนี้ มีเจตนาพิเศษเพื่อ

เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง กลุ่มทุนธุรกิจ เครือญาติและพวกพ้อง

 

          ในการเสนอโครงการ ผู้กระทำการทุจริตซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมักจะอ้างเหตุผลกับประชาชนว่า โครงการหรือนโยบายที่ใช้เงินของรัฐจำนวนมหาศาลนี้ ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

 

การให้ข้อมูลเช่นนี้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจผิดว่า การทุจริตของผู้มีอำนาจบริหาร

บ้านเมืองขณะนั้น เป็นการดำเนินนโยบายของรัฐที่ถูกต้องชอบธรรม ซึ่งความจริงแล้วเป็น           ความชาญฉลาดของนักการเมืองผู้ใช้อำนาจรัฐกำหนดนโยบายที่มีลักษณะเป็น “ประชานิยม” ทำให้ประชาชน     ชื่นชอบ แต่นักการเมืองได้ผลประโยชน์ ทั้งทรัพย์สินจากเปอร์เซ็นต์ของโครงการและคะแนนเสียงเลือกตั้ง       ครั้งต่อไป  

 

          สำหรับรูปแบบการทุจริตเชิงนโยบายนั้น งานวิจัยพิจารณาได้ว่า มี ๕ ลักษณะ คือ (๑) ผลประโยชน์ทับซ้อน (๒) ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (๓) ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง (๔) ทุจริตการให้สัมปทาน และ (๕) แทรกแซงองค์กรตรวจสอบ

 

          ในงานวิจัยนี้ ป.ป.ช.ได้ยกตัวอย่างการทุจริตเชิงนโยบายที่ผ่านมา ๕ โครงการ คือ (๑) โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน (๒) การตราพระราชกำหนดเพื่อแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต    (๓) การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (๔) โครงการรถดับเพลิงและเรือดับเพลิงของ กทม. และ (๕) โครงการรถเมล์เอ็นจีวี  โดยสรุปผลการศึกษาว่า

 

          “จากกรณีศึกษาทั้ง ๕ เรื่อง จะเห็นว่า รูปแบบและวิธีการทุจริตเชิงนโยบายของผู้ดำรงตำแหน่ง         นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เป็นการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี โดยการตรากฎหมาย             (พระราชกำหนด) ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ออกกฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีหรือมติของ         คณะกรรมการที่มีอำนาจตามกฎหมาย โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบให้แก่ตนเอง กลุ่มธุรกิจ เครือญาติและพวกพ้องของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในขณะนั้น”

 

          สำหรับแนวทางการแก้ไขนั้น ผลการศึกษาระบุว่า การทุจริตเชิงนโยบายจะสำเร็จได้ เกิดจากความร่วมมือของคน ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มทุนธุรกิจ ข้าราชการ และนักการเมือง จึงกำหนดมาตรการป้องกันรวม ๑๒ มาตรการ

โดยเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี ๔ มาตรการ คือ

 

          ๑) มาตรการพัฒนาระบบกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารงานพัสดุของรัฐให้เป็นมาตรฐานกลาง

 

          ๒) มาตรการเสริมสร้างความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือ

ดำเนินการในกิจการของรัฐ

 

          ๓) มาตรการเสริมสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี

 

          ๔) มาตรการป้องกันข้าราชการประจำ ผู้มีอิทธิพล เข้าไปครอบงำการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของฝ่ายราชการประจำ

 

          น่าเสียดายที่วันนั้น รัฐมนตรีนิวัติธำรงฯ และ ดร.ทศพรฯ ไม่ได้เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลการศึกษาเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องเดียวกัน จึงหวังว่าท่านจะนำผลของงานวิจัยนี้ไปผนวกกับโครงการของท่าน ซึ่งจะช่วยให้การต่อต้านคอร์รัปชั่นของชาติมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

สำหรับกิจกรรมสุดท้าย  เมื่อวันพุธที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕ สำนักงาน ป.ป.ช.ได้จัดกิจกรรมงานนิทรรศการและการสัมมนาผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๕๕) ภายใต้ชื่อว่า “รวมพลังเดินหน้า ฝ่าวิกฤต คอร์รัปชั่น”

 

โดยมีเครือข่าย ภาคการเมือง ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม สื่อมวลชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ และได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมปาฐกถาพิเศษ และ       ร่วมลงปฏิญญาพร้อมกับตัวแทนภาคต่าง ๆ ด้วย ซึ่งทำให้เห็นว่า รัฐบาลกับ ป.ป.ช.จับมือกันแล้ว

 

นอกจากนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องกรณีทุจริตการให้กู้เงินของกรรมการธนาคารกรุงไทยเมื่อปี ๒๕๔๖ และ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีการอนุมัติที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์         ซึ่งเป็นสิ่งบอกเหตุว่า กระบวนการปราบปรามการทุจริตที่เคยล่าช้า ได้เริ่มขยับตัวแล้ว

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็น “มะเร็งร้าย” ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมานาน จึงต้องใช้   ความ “กล้า” ผ่าตัดระบบงานในภาครัฐทั้งระบบ ซึ่งแน่นอนว่านายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์และทีมงาน ต้องเผชิญกับการต่อต้านและแรงเสียดทานจากผู้เคยได้รับประโยชน์จากการคอร์รัปชั่น ทั้งจากนักการเมืองและพวกมือที่      มองไม่เห็น อย่างรุนแรง

 

เรื่องนี้ประชาชนเป็นกำลังใจให้ครับ เพราะคนกลุ่มนี้ “โกง” เงินจากภาษีของประชาชนไปสร้างความร่ำรวยให้ตนเองและพวกพ้องมามากพอแล้ว สมควรถูกขจัดออกไปให้สิ้นซาก

 

เพื่อให้ประเทศไทยของเราเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของนานาชาติก่อนเข้าประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ นี้

 

 

------------------

 


ข้อมูลเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 14:34:34 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 00:00:00 มีการเปิดอ่าน 1988 ครั้ง Share