บทบาทอำนาจหน้าที่

 
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ได้บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ดังนี้
 
          ๑) การวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดที่เกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (มาตรา ๕ วรรคสอง) 
               ในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ที่จะนำมาใช้บังคับกับกรณีดังกล่าวได้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
 
          ๒) การทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา (มาตรา ๖ วรรคสอง) 
                ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา
 
          ๓) การเสนอและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๑๔) 
                รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติร่วมกันจำนวนไม่น้อยกว่า๒๕ คน หรือคณะรัฐมนตรี หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติตามมาตรา ๓๑ วรรคสอง  แต่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะรัฐมนตรี
                ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึง ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการตั้งขึ้น การยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินการกู้เงิน การคํ้าประกัน หรือการใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ หรือเงินตราซึ่งในกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัย โดยร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น คณะรัฐมนตรีอาจขอรับไปพิจารณาก่อนสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะรับหลักการก็ได้ อนึ่ง การตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้กระทำได้โดยวิธีการเดียวกับการตราพระราชบัญญัติ แต่การเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้กระทำโดยคณะรัฐมนตรีหรือผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน ๒๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
 
          ๔) การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใหม่ (มาตรา ๑๕ วรรคสอง) 
                ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือเมื่อพ้น ๙๐ วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใหม่ ถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วพระราชทานคืนมาภายใน ๓๐ วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
 
          ๕) การพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด (มาตรา ๒๑) 
                เมื่อมีกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเมื่อมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราที่ต้องพิจารณาโดยด่วนและลับ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ
               เมื่อได้ประกาศใช้พระราชกำหนดแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยไม่ชักช้า ถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติอนุมัติ ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่อนุมัติ ให้พระราชกำหนดนั้นตกไปแต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่พระราชกำหนดนั้นใช้บังคับ เว้นแต่พระราชกำหนดนั้นมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดดังกล่าวตกไป การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีที่ไม่อนุมัติให้มีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
          ๖) การมีมติให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา ๑๒) 
                สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้ใดกระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือมีพฤติการณ์อันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๕ คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้ผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพ
 
          ๗) การตราข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (มาตรา ๑๓ วรรคสอง) 
                สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา และกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การเสนอญัตติ การอภิปราย การลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
 
          ๘) การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องอันใดเกี่ยวกับหน้าที่ (มาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง) 
                ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี ในเรื่องใดอันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ แต่รัฐมนตรีมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน หรือเมื่อเห็นว่าเป็นกระทู้ที่ต้องห้ามตามข้อบังคับในกรณีนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะตราข้อบังคับกำหนดองค์ประชุมให้แตกต่างจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง  ก็ได้
 
          ๙) การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงจากคณะรัฐมนตรี (มาตรา ๑๖ วรรคสอง) 
                เมื่อมีปัญหาสำคัญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จะเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงจากคณะรัฐมนตรีก็ได้แต่จะลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจมิได้
 
          ๑๐) การเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน (มาตรา ๑๗) 
                 ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้ แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
 
          ๑๑) การลงมติแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา ๑๙) 
                 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติถวายคำแนะนำตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เสนอโดนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
 
          ๑๒) การพิจารณาให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาใดๆ (มาตรา ๒๓) 
                  หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง 
                  หนังสือสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหมายถึง หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
 
          ๑๓) การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (มาตรา ๓๒ (๓)) 
                  ให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน ๓๖ คน ซึ่งประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้งจาก
                      (๑) ประธานกรรมาธิการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ จำนวน ๑ คน
                      (๒) ผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ จำนวน ๒๐ คน
                      (๓) ผู้ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอ จำนวน ๕ คน
                      (๔) ผู้ซึ่งคณะรัฐมนตรีเสนอ จำนวน ๕ คน
                      (๕) ผู้ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ จำนวน ๕ คน
                  การแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นครั้งแรก ในกรณีที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมาธิการยกร่งรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ถือว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบดว้ยกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่าที่เหลืออยู่ แต่ให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง
 
          ๑๔) การให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๓๔ วรรคสอง) 
                  ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาประกอบการพิจารณาด้วย
 
          ๑๕) การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีมติร่วมกันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ (มาตรา ๔๖) 
                  ในกรณีที่เห็นเป็นการจำเป็นและสมควร คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีมติร่วมกันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้ โดยจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมโดยในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะแก้ไขเพิ่มเติม ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมิได้ เว้นแต่คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเห็นชอบด้วย มติให้ความเห็นชอบต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลทูลกระหม่อมถวายภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติ เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นกำหนด ๙๐ วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป

บทสรุป
                  ในทางประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยเมื่อมีการยึดอำนาจการปกครองประเทศเป็นผลสำเร็จ คณะผู้ยึดอำนาจจะใช้อำนาจในฐานะองค์กรผู้ใช้อำนาจสูงสุดของรัฐ ออกประกาศหรือคำสั่งให้รัฐธรรมนูญที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นสิ้นสุดลง และให้ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรีฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา สิ้นสุดลง ยกเว้นศาลซึ่งเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการยังคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย หรือตามประกาศหรือคำสั่งของคณะผู้ยึดอำนาจต่อไปได้ และจะมีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นใช้บังคับ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวโดยส่วนใหญ่จะบัญญัติให้มีการแต่งตั้งองค์กรที่เรียกว่า “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ขึ้นเพื่อให้เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติในระหว่างที่ประเทศไม่มีสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐ สภาดังนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการวางรากฐานที่มั่นคงในการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ เพื่อนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ทางการเมืองซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางพัฒนาการตามวิถีทางของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ที่มา :  จุลนิติ ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๔ กรกฎาคม - สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
           สำนักกฎหมาย
           สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

 
มีการเปิดอ่าน 14969 ครั้ง

ข้อมูลสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ข้อมูลวุฒิสภา

เรื่องที่น่าสนใจ