เราจะ…ซื่อตรงต่อหน้าที่และประชาชน

“เราจะซื่อตรงต่อหน้าที่และประชาชน”

พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์

เลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา

 

ถึงแม้ว่าจะมีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ หรือเมื่อ ๗ ปีมาแล้ว แต่ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่า “ประโยชน์สุข” ของประชาชนที่เป็นสุดยอดปรารถนา ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ เพราะการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมของข้าราชการ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานด้วยตนเอง และสร้างความซื่อสัตย์สุจริต ขยัน อดทน มีความรับผิดชอบ มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้บรรลุผลอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเอื้อต่อการพัฒนาระบบราชการตามเป้าหมาย “ยังไม่เกิดขึ้น”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกฝัง “คุณค่า” ให้กับข้าราชการ ในเรื่องความซื่อตรงต่อหน้าที่ในการรับใช้ประชาชนและการปฏิบัติตนตามคำมั่นสัญญา ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวข้าราชการของรัฐ ยังไม่มีความชัดเจน

ในเรื่องนี้ สมัยที่กระแสการพัฒนาระบบราชการเริ่มแรงในปี ๒๕๔๖ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเคยเสนอค่านิยมข้าราชการไทยยุคใหม่ว่า “I AM READY” โดย I หมายถึง Integrity และให้ความหมายว่า “ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี” แต่ก็ขาดการปลูกฝังค่านิยมเหล่านั้นกันอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ดี “Integrity” ในภาษาอังกฤษมีความหมายลึกซึ้งมากกว่านั้น ซึ่งท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้อธิบายไว้ว่า

Integrity มาจากรากคำศัพท์ภาษาละตินว่า Integer แปลว่า ครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อพิจารณาแล้วจะได้ความหมายว่า “คนที่จะเป็นคนเต็มคนนั้นต้องมี Integrity เป็นคุณธรรมประจำตัวและให้ความหมายว่า การยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม โดยต้องมีความหนักแน่น ความน่าเชื่อถือ ความยึดมั่นในหลักการและความถูกต้อง”

นอกจากนั้น ท่านยังแนะนำแนวทางการสร้าง Integrity ในสังคมอังกฤษว่า ต้องปลูกฝังคติธรรม ๗ ประการ คือ สัจจะพูดความจริง, ความซื่อสัตย์สุจริต, ความระลึกในหน้าที่, ความอดทนอดกลั้น, ความเป็นธรรม, ความเอาใจเขามาใส่ใจเรา และเมตตาธรรม ตั้งแต่เด็กๆ

ขณะเดียวกัน นักวิชาการชาวอเมริกันได้อธิบายว่า สหรัฐอเมริกาวางระบบการปลูกฝัง Integrity ตั้งแต่บนโต๊ะอาหารในบ้านไปจนถึงระดับชุมชนวิชาชีพ ด้วยวรรคทองที่ว่า “เราจะไม่โกหก ไม่โกง ไม่ขโมย และจะไม่ยอมที่จะให้ผู้ใดทำเช่นนั้น” ซึ่งสื่อความหมายที่ชัดเจน และนำไปสู่การปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมของชาติได้ง่าย

ส่วนรัฐบาลมาเลเซียได้ให้ความหมาย Integrity ไว้ใน “National Integrity Plan” ว่า หมายถึง “การบ่งบอกถึงคุณภาพเชิงประจักษ์ของความดีแบบองค์รวม และพฤติกรรมที่มีความสำคัญของบุคคลและองค์กร ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม ชุดของคุณค่าที่ดีงาม และแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน”

ขณะเดียวกันได้ให้ความหมาย Integrity สำหรับตัวบุคคลว่า หมายถึง “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการพูดและการกระทำของบุคคล ซึ่งการกระทำดังกล่าวของบุคลนั้นจะเป็นไปตามศีลธรรม คุณธรรม กฎหมาย และไม่เป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม”

และ Integrity ในมิติขององค์กร หมายถึง “สิ่งที่จะชี้ให้เห็นถึงแนวทางการหล่อหลอมและปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติต่างๆ ตามกระบวนการและภาระงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งองค์กรนั้นจะต้องปลูกฝังสั่งสอนให้สมาชิกในองค์กรปฏิบัติตามแนวทางนั้นจนเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นวัฒนธรรมขององค์กรในระยะต่อไป”

ถ้าพิจารณาในหลักคุณธรรมของชาติไทย ธรรมของผู้ปกครอง คือ ทศพิธราชธรรม ได้กล่าวถึงความประพฤติที่สำคัญของชนชั้นปกครองที่ต้องดำรงไว้ ๒ ประการ ได้แก่ “อาชวะ” ความซื่อตรง และ “อวิโรธนะ” ความไม่คลาดแคล้วจากธรรม

นอกจากนั้น “หลักราชการ” ๑๐ ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนิพนธ์พระราชทานให้กับข้าราชการไทยเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๗ ได้ระบุ “ความซื่อตรง” ไว้ ๒ ประการ คือ ความซื่อตรงต่อหน้าที่ และความซื่อตรงต่อบุคคลทั่วไป โดยทรงอธิบายว่า

ความซื่อตรงต่อหน้าที่ คือ ตั้งใจกระทำกิจการซึ่งได้รับมอบหมายเป็นหน้าที่ของตนโดยซื่อสัตย์สุจริต ใช้ความอุตสาหวิริยภาพเต็มสติกำลังของตน ด้วยความมุ่งหมายให้กิจกรรมนั้นๆ บรรลุซึ่งความสำเร็จโดยอาการอันงดงามที่สุดที่พึงมีหนทางปฏิบัติได้

และ ความซื่อตรงต่อบุคคลทั่วไป หมายถึง ประพฤติซื่อตรงต่อคนทั่วไป รักษาตนให้เป็นคนควรเขาทั้งหลายจะเชื่อถือได้ โดยรักษาวาจาสัตย์พูดอะไรเป็นมั่น ไม่เหียนหันเปลี่ยนแปลง คำพูดไปเพื่อความสะดวกเฉพาะครั้ง ๑ คราว ๑

จากที่กล่าวมาทั้งหมด อาจอนุมานได้ว่า “ความซื่อตรง” ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ในหลักราชการ มีความสอดคล้องกับความหมายของ Integrity ซึ่งนานาอารยะประเทศใช้เป็นค่านิยมที่สำคัญในการส่งเสริมธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้การบริหารราชการแผ่นดินมีธรรมาภิบาล วุฒิสภา โดยคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ได้ร่วมมือกับ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรมหรือศูนย์คุณธรรม จัดการสัมมนา“ระดมความคิดเพื่อจัดทำแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ” ขึ้น ๓ ครั้ง จนตกผลึกในความคิดร่วมกันว่า ควรมีการจัดทำโครงการ “องค์กรต้นแบบความซื่อตรงในภาครัฐ” ขึ้น โดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรับเป็นเจ้าภาพ และศูนย์คุณธรรมเป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการ

สำหรับแนวความคิดในการจัดทำโครงการนั้น ได้เชิญชวนให้ส่วนราชการต่างๆ เสนอชื่อบุคคลที่มีความซื่อตรงต่อหน้าที่และซื่อตรงต่อบุคคลทั่วไปเป็นที่ประจักษ์ เข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีส่วนราชการ ๒๒ แห่ง ส่งชื่อบุคคลและหน่วยงานเข้าร่วมโครงการนี้ โดยมีทั้งผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารระดับต้น

ขั้นต่อไป ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเชิญผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง ๒๒ ท่าน มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อระดมความคิดหาชุดความรู้ในการพัฒนาคนในองค์กรให้มีความซื่อตรง ด้วยการน้อมนำพระราชนิพนธ์ “หลักราชการ” และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสต่างๆ มาเป็นแนวทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยจะมีนักวิชาการจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเป็นผู้ถอดชุดความรู้ให้

หลังจากให้ทุกท่านได้นำชุดความรู้ที่เหมาะสมกับองค์กรของตน ไปทดลองปฏิบัติประมาณ ๓ เดือน ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเชิญบุคคลเหล่านี้ กลับมาสัมมนาเพื่อพัฒนากลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรอีกครั้งหนึ่ง และให้นำกลับไปทดลองปฏิบัติอีกประมาณ ๓ เดือน

ในขั้นสุดท้าย บุคคลและองค์กรต้นแบบจะนำเสนอกระบวนการพัฒนาองค์กรต้นแบบความซื่อตรงในภาครัฐต่อสาธารณะในงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ที่ศูนย์คุณธรรมจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ และรณรงค์ให้มีการขยายผลไปยังหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนอื่น ที่มีความสนใจในการสร้างความซื่อตรงให้เป็นสัญลักษณ์ขององค์กร

โดยสรุปแล้ว โครงการ “องค์กรต้นแบบความซื่อตรงในภาครัฐ” เป็นจุดเริ่มต้นของการเติมเต็มความเป็นคนที่สมบูรณ์ให้กับข้าราชการผู้ใช้อำนาจรัฐทำงานเพื่อประชาชน โดยให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่า

“เราจะซื่อตรงต่อหน้าที่และซื่อตรงต่อประชาชน”

และพร้อมที่จะปฏิบัติตนเป็น “แบบอย่าง” เพื่อให้บุคคลอื่นได้นำไปปฏิบัติตาม ด้วยความเต็มใจ

เมื่อถึงจุดนั้น เราคงจะเห็น “รอยยิ้มของประชาชน” ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาระบบราชการได้อย่างแท้จริง

 

-------------------

เขียนให้ “โพสต์ทูเดย์”

๑๕ พ.ย.๕๓

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บุคคลและองค์กรที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วม

โครงการ องค์กรต้นแบบความซื่อตรงในภาครัฐ

จัดโดย สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม

----------------

๑. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

๒. นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน

๓. นางกิ่งแก้ว อินหว่าง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ

๔. นายวิชาญ คุณากูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม

๕. นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

๖. นายสด แดงเอียด อธิบดีกรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

๗. นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมควบคุมความประพฤติ กระทรวงยุติธรรม

๘. นางลัดดาวัลย์ บัวเอี่ยม รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

๙. พลโท อภิชาต แสงรุ่งเรือง เจ้ากรมการเงินกลาโหม กระทรวงกลาโหม

๑๐. นายวัตตะ วุตติสันต์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

๑๑. พลตรีชนะทัพ อินทามระ ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก

๑๒. พลอากาศตรี โสภณ สรรพนุเคราะห์ เจ้ากรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทหารอากาศ

๑๓. พลอากาศตรี เพียร โตท่าโรง ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ

๑๔. นายกมล สุขสมบูรณ์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

๑๕. นางสุนทรีย์ แก้วกรณ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท

๑๖. นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข

๑๗. นางวิภารัตน์ รัตนเลิศนาวี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านบริหารทรัพยากรบุคคล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สป. กระทรวงศึกษาธิการ

๑๘. นายสุรพงษ์ เจียสกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหาร สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

๑๙. นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน

๒๐. นางสิรินันท์ ปานสมศรี ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

๒๑. ร้อยตรี ไพโรจน์ คะนึงทรัพย์ เลขานุการกรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

๒๒. พันเอกธวัชชัย ทรงศรีเอี่ยม ผู้อำนวยการกองการปกครอง กรมกำลังพลทหาร

 

-----------------

๔ พ.ย.๕๓


ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 09:21:18 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 09:25:06 มีการเปิดอ่าน 3146 ครั้ง Share