เลือก “คนดี มีคุณภาพ ” เข้าสภา

เลือก “คนดี มีคุณภาพ ” เข้าสภา

วีรวิท คงศักดิ์

 

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสาธารณชน วันศุกร์ที่ ๖ พฤษภาคมนี้ รัฐบาลจะทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกฤษฎีกา “ยุบสภาผู้แทนราษฎร” เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

นั่นหมายความว่า ประชาชนมีโอกาสเลือกผู้แทนของตนมาเป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” จำนวน ๕๐๐ คน แบ่งเป็นแบบบัญชีรายชื่อ ๑๒๕ คน และแบบเขต ๓๗๕ คน เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา โดยใช้ดุลยพินิจในการออกกฎหมาย และตรวจสอบ ควบคุมกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร ให้เกิด “ประโยชน์สุข” กับประชาชนอย่างเป็นธรรมและเสมอภาคกัน

หลายฝ่ายมักจะแนะนำว่า “เลือกคนดีเข้าสภา” แต่ในโลกของความเป็นจริง คำว่า “คนดี” เป็นนามธรรม และเป็นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกหรือความพึงพอใจ รวมถึงอาจมีเรื่องบุญคุณเกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้น ประชาชนจึงควรเลือกคนที่มี “คุณภาพ” หรือ “มาตรฐานที่ต้องการ” ของสมาชิกรัฐสภา โดยพิจารณาทั้งความประพฤติและความรู้ความสามารถ เข้ามาเป็นผู้แทนประชาชนในฝ่ายนิติบัญญัติของชาติ

ถ้าพิจารณามาตรฐานจริยธรรมหรือความประพฤติอันดีงามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นว่า ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ.๒๕๕๓ กำหนด อุดมคติที่มุ่งเน้นให้ผู้แทนราษฎรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม ๖ ประการ และสังเคราะห์เป็น จริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ ๑๕ ข้อ และจริยธรรมเกี่ยวกับการดำรงตน ครอบครัว และผู้อื่นอีก ๘ ข้อ

“อุดมคติ” ๓ ประการแรก มุ่งเน้นให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมตามคำปฏิญาณของสมาชิกรัฐสภาที่บัญญัติไว้ในตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๒๓ ว่า

ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

ส่วนอุดมคติ ๓ ประการหลัง มุ่งเน้นให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมในเรื่อง รู้รักสามัคคี (ที่ถูกต้องควรเขียนว่า รู้ รัก สามัคคี”) กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง และเสริมสร้างสถาบันครอบครัว

เพราะฉะนั้น คนที่ประชาชนเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ควรจะเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ทำงานเพื่อชาติและประชาชน ไม่มีพฤติกรรมในการสร้างความแตกแยกให้กับสังคม และเป็นคนที่ทำงานอย่างมีหลักการ ไม่โอนเอนไปตาม “คำสั่ง” ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรืออยู่ใต้อาณัติของสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ทำตามคำสั่งของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง หรือเป็นคนประเภทที่ว่า ซื้อได้ด้วย “เงิน”

นอกจากนั้น ผู้แทนราษฎรต้องเป็นคนที่รักครอบครัว ไม่มีหลายบ้าน เพราะคนมีหลายบ้านเป็นคน “หลายใจ” ทำให้ขาดความเชื่อถือและศรัทธาว่า รักประชาชนจริงหรือไม่ อาจรักเกียรติยศชื่อเสียงเงินตราที่จะได้รับในฐานะสมาชิกรัฐสภามากกว่าคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนก็ได้

เรื่องความน่าเชื่อถือในความรักครอบครัวนี้ บางประเทศถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของนักการเมือง เพราะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของสังคม เช่น นักการเมืองสาธารณรัฐเกาหลีที่มี “กิ๊ก” หรือมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภริยาของตน จะถูก “ขับ” ออกจากวงการเมืองทันที

ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนนั้น คนที่ประเมินผลงานของอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ดีที่สุด คือ พรรคการเมือง ซึ่งเป็นสภาบันทางการเมืองที่มีหน้าที่ “เลือกคนดี” มาให้ประชาชนเลือก ตามปรัชญาของระบอบประชาธิปไตยที่ว่า “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค”

สิ่งแรกที่ต้องประเมินสำหรับอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ สถิติการเข้าร่วมประชุมสภาและคณะกรรมาธิการ รวมถึงสถิติการลงมติด้วย เพราะสะท้อนให้เห็น “ความรับผิดชอบ” ในการปฏิบัติหน้าที่

ถ้าพิจารณาให้ดีเรื่อง “สภาล่ม” เริ่มเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐสภาไทยที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ เพราะองค์ประชุมไม่ครบบ่อยมาก ซึ่งสะท้อนความบกพร่องในหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง และเป็นเรื่องประชาชนตั้งคำถามอยู่เสมอว่า “อยากเป็น” สมาชิกรัฐสภา แต่ทำไม “ไม่อยากเข้าประชุม”

เรื่องนี้สามารถดูได้จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่เข้าประชุมและลงมติในรัฐสภาทุกครั้ง

สมาชิกรัฐสภาของเราตามรัฐธรรมนูญก่อนการแก้ไข มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๔๘๐ คน สมาชิกวุฒิสภา ๑๕๐ คน รวมเป็น ๖๓๐ คน แต่เมื่อลงมติทุกครั้งมีเพียง ๔๐๐ คนเศษ ไม่เคยถึง ๕๐๐ คนเลยสักครั้ง

สิ่งที่ประชาชนผู้เลือกท่านเข้าสภาอยากถามว่า “อีกเกือบ ๒๐๐ คน ไปอยู่ที่ไหน” จะอ้างว่าประชุมกรรมาธิการฯ อยู่ ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะโดยหลักการแล้ว จัดประชุมซ้อนกันไม่ได้ เมื่อมีการประชุมสภาฯ ประธานกรรมาธิการฯ “ต้อง” สั่งงดประชุมกรรมาธิการฯ ทันที

น่าชื่นชมที่เมื่อเดือนก่อนคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา ได้ประกาศเกียรติคุณสมาชิกวุฒิสภาที่มาประชุมมากที่สุดใน ๓ ปี และเปิดเผยสถิติการเข้าประชุมวุฒิสภา รวมถึงรายชื่อผู้ขาดประชุมมากที่สุดต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่น่าจะเป็นมาตรฐานของรัฐสภาไทย ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

และถ้าให้ดีควรมีข้อมูลเกี่ยวกับการลงมติด้วย เพราะจะเป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงคุณภาพในการทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภา และประชาชนสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อยอดเพื่อประเมินว่า ผู้แทนของเขาให้ความเห็นอย่างไรในเรื่องนั้นๆ มีวิจารณญาณดีหรือไม่ดีเพียงใด เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือพวกพ้องของตน ฯลฯ

นอกจากจำนวนครั้งที่เข้าร่วมประชุมและการลงมติแล้ว พรรคการเมืองควรจะมีการประเมิน “คุณภาพ” ของการอภิปรายในสภาของสมาชิกพรรคของตนด้วย

ทั้งนี้ เพราะในปัจจุบันประชาชนมีการศึกษาทางการเมืองมากขึ้นและสามารถเข้าถึงข้อมูลการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาทุกคน จึงสามารถประเมินได้ว่า เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนมากน้อยเพียงใด

นอกจากนั้น ทุกคนต้องคำนึงว่า รัฐสภาเป็นสถานที่ที่มีเกียรติและเป็นแบบอย่างของสังคม การอภิปรายเสนอข้อคิดเห็นในสภาของสมาชิกรัฐสภาจึงควรอยู่บนหลักของเหตุผลที่เป็นหลักวิชาการและข้อเท็จจริง

ไม่สมควรใช้ลีลายียวนกวนอารมณ์ของฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ฟัง หรือประพฤติตนขัดต่อข้อบังคับการประชุมที่กำหนดว่า

“ในการอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น...”

และ “ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยา หรือวาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ หรือออกชื่อสมาชิกรัฐสภาหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น”

ดังนั้น บุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวจนเป็น “ลักษณะนิสัย” พรรคการเมืองไม่ควรส่งเข้ารับการเลือกตั้ง เพราะเขาได้ทำลายชื่อเสียงและความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมืองของท่านและรัฐสภาไทยแล้ว

เรื่องการส่งตัวบุคคลเข้ารับการเลือกตั้งนี้ ในระยะหลังๆ ประชาชนมีสิทธิในการเลือกน้อยลง เพราะพรรคการเมืองเริ่มเป็นพันธมิตรกันมากขึ้น จึงเสมือนเป็นการ “ฮั้ว” ทางการเมือง ส่งคนด้อยคุณภาพมาให้ประชาชนเลือก ทำให้ประชาชนผู้ตั้งใจเลือกคนดีเข้าสภา “รับไม่ได้” กับบุคคลนั้น ต้องลงคะแนนในช่อง “ไม่เลือก” ด้วยความจำใจ

ส่วนระบบบัญชีรายชื่อก็เช่นเดียวกัน หลายพรรคการเมืองไม่ค่อยเคารพดุลยพินิจของประชาชน โดย “สอดแทรก” บุคคลที่ขาดคุณสมบัติตามประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาด้วย ซึ่งถ้ามีจำนวนมากจนประชาชนสังเกตได้ อาจจำเป็นต้อง “ไม่เลือก” พรรคการเมืองที่เคยศรัทธาก็ได้

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็น “จุดผกผัน” ของระบอบประชาธิปไตยไทย ซึ่งอยู่ในกำมือของพรรคการเมืองในฐานะสถาบันหลักทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย

ถ้าพรรคการเมืองมีความรับผิดชอบในการคัดเลือก “คนดี มีคุณภาพ” มาเสนอให้ประชาชนเลือก วิถีประชาธิปไตยของประเทศไทยก็จะสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยดี

แต่ถ้าพรรคการเมืองสนใจแต่เพียงการแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของคนที่จะเสนอให้ประชาชนเลือกแล้ว ประชาชนก็จะตัดสินใจ “ไม่เลือก” คนไม่ดีที่ท่านเสนอมา ซึ่งเสมือนกับว่า ประชาชนให้การสนับสนุนแนวคิด “Vote No” และถ้ามีจำนวนมาก ประชาธิปไตยของเราก็จะถึงทางตันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหลายฝ่ายประเมินว่า ต้องมีความขัดแย้งที่รุนแรงมากอย่างแน่นอน

ยังไม่สายครับ...ที่พรรคการเมืองจะกลับตัวกลับใจมายืนข้างประชาชนด้วยการ “เลือกคนดี มีคุณภาพ” มาให้ประชาชนเลือก เพื่อให้ประชาธิปไตยของเราก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง(เสียที)

------------------

เขียนให้ โพสต์ทูเดย์

๒ พ.ค.๕๔


ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 09:39:02 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 00:00:00 มีการเปิดอ่าน 3445 ครั้ง Share