ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นของร่างกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นของร่างกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำร่างกฎหมายฯ ของคณะอนุกรรมาธิการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลและสื่อมวลชน ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา (หมายเหตุ สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่เวบบอร์ดของคณะกรรมาธิการฯ )

สรุปประเด็นความเห็นของคณะอนุกรรมาธิการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ

1. คณะกรรมการ/กรรมการ

ชื่อ“คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)”

1.1องค์ประกอบคณะกรรมการ

บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จาก 4 กลุ่ม

            ก) ด้านกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ จำนวน 2 คน

            ข) ด้านกิจการโทรคมนาคม จำนวน 2 คน

            ค) ด้านความมั่นคง  จำนวน 1 คน

            ง) ด้านอื่นๆ   จำนวน 4-6 คน

            1.2 จำนวน

            9-11 คน

            1.3 คุณสมบัติต้องห้าม

            ไม่เป็นกรรมการ  ผู้จัดการ  ผู้บริหาร  ที่ปรึกษา  หรือพนักงานของนิติบุคคล  หรือเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบกิจการกระจายเสียง  กิจการโทรทัศน์  หรือกิจการโทรคมนาคม  (มาตรฐานการลาออกจากตำแหน่งเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี) และไม่เคยเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติมาก่อน (กฎหมายเดิมกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่ง กสช.หรือ กทช. ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียวอยู่แล้ว)

            1.4คณะกรรมการเฉพาะด้าน

            ให้ กสทช. แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านในระดับอนุกรรมการประกอบด้วย

(1)คณะกรรมการด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

(2)คณะกรรมการด้านกิจการโทรคมนาคม

(3)คณะกรรมการด้านอื่นๆตามจำเป็น

(กฎหมายกำหนดไว้อย่างน้อยต้องมีชุดที่ (1) และ(2) กสทช.สามารถตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านในระดับอนุกรรมการได้มากพอที่จะทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพสูงสุด)

กรรมการเฉพาะด้านต้องไม่เคยเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติมาก่อน (ป้องกันปัญหาการตีความ conflict of interest เพราะกฎหมายเดิมกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่ง กสช.หรือ กทช. ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียวอยู่แล้ว)

กรรมการเฉพาะด้านจะเป็นกรรมการในคณะกรรมการเฉพาะด้านชุดอื่นอีกมิได้

 

2.กรรมการสรรหา

            2.1องค์ประกอบ

            ให้องค์กรที่สนใจ และบุคคลทั่วไปมาลงทะเบียนกับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย เพื่อดำเนินการคัดเลือกกันเองตามที่กฎหมายกำหนด

            2.2 จำนวน

            9-11 คน

            2.3ขั้นตอนการสรรหา

            (1) หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดให้มีการประชุมผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นกรรมการสรรหา เพื่อให้ลงมติเลือกกันเองให้ได้ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด 

(2) คณะกรรมการสรรหาประชุมกำหนดการวันเปิดรับสมัคร กสทช. และกระบวนการพิจารณาคัดเลือก โดยมีระยะเวลาเริ่มต้นก่อน กสทช.ชุดเดิมครบวาระอย่างน้อย 90วัน และดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันปิดรับสมัคร

(3) คณะกรรมการสรรหา นำรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณา 2 เท่าของ กสทช.ให้ ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติคัดเลือกให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันส่งรายชื่อถึงประธานวุฒิสภาในสมัยประชุมปกติ หรือสมัยประชุมวิสามัญ

(4)  ประธานวุฒิสภานำรายชื่อ กสทช. กราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

 

3.ความโปร่งใสและความพร้อมรับผิดจากการตรวจสอบ

ให้ กสทช. จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีในด้านการบริหารคลื่นความถี่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยต้องแสดงรายละเอียดแผนงาน ผลการปฏิบัติงาน รายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารคลื่นความถี่ การจัดสรรคลื่นความถี่ และแผนการดำเนินงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา โดยต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบ

            ให้ กสทช. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ให้สำนักงาน กสช. เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กสช. และสำนักงาน กสช. ให้ประชาชนทราบทางระบบเครือข่ายสารสนเทศ หรือวิธีการอื่นที่เห็นสมควรโดยอย่างน้อยต้องเปิดเผยข้อมูล ดังต่อไปนี้

           

 

 

(1) ใบอนุญาตประกอบกิจการของผู้ได้รับใบอนุญาตทุกราย พร้อมทั้งเงื่อนไขที่กำหนด

            (2) รายได้ของสำนักงาน กสช. ตามมาตรา 59 เป็นรายเดือนโดยสรุป

(3) รายจ่ายสำหรับการดำเนินงานของ กสช. และสำนักงาน กสช. เป็นรายเดือนโดยสรุป

            (4) รายละเอียดของอัตราค่าตอบแทนกรรมการ กกสท. กกทค. อนุกรรมการและที่ปรึกษาต่างๆ

            (5) ผลการศึกษาวิจัยที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ

            (6) ผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคและผู้รับใบอนุญาตและจำนวนเรื่องที่ยังค้างพิจารณา

                 การรายงานให้สำนักงาน กสทช. รายงานทั้งประสิทธิผล และประสิทธิภาพในการทำงานตามแผนด้วย

 

4.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

            4.1การมีส่วนร่วมในสิทธิการใช้คลื่นความถี่ของประชาชน

ต้องจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ หากประชาชนยังไม่พร้อมต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อให้ได้ใช้คลื่นความถี่ ตามสัดส่วนที่กำหนด

             ต้องจัดให้มีการกระจายข่าวสารของประชาชนเพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนในท้องถิ่น  อย่างทั่วถึงและพอเพียง

            4.2การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และกฎระเบียบ

      การจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียง     กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

             การจัดทำแผนแม่บทและการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ผู้ประกอบกิจการ และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางการจัดทำแผน

            การกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้ กสช. จัดให้มีแผนปฏิบัติการและแนวทางในการดำเนินงานระยะ5ปี โดยในแผนดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีแนวทางการพัฒนาและการส่งเสริมกิจการ รวมตลอดทั้งแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการอนุญาตให้ประกอบกิจการด้วย

ในกรณีที่ กสช. วินิจฉัยเรื่องใดไม่สอดคล้องกับความคิดเห็นของประชาชน ผู้ประกอบกิจการ หรือหน่วยงานของรัฐตามที่ปรากฏในการรับฟังความคิดเห็นตามวรรค2 กสทช. ต้องชี้แจงและแสดงเหตุผลให้ประชาชน ผู้ประกอบกิจการ หรือหน่วยงานของรัฐทราบ

ประชาชน ผู้ประกอบกิจการ หรือหน่วยงานของรัฐตามวรรค3ผู้ใด เห็นว่าแผนปฏิบัติการที่ กสทช. กำหนดขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม หรือเสียหายต่อประโยชน์ส่วนรวมของรัฐหรือประชาชน ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ โดยให้ถือว่าแผนปฏิบัติการดังกล่าวเป็นกฎตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

4.3การมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล

ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดให้ภาคประชาชนประชุมคัดเลือก คณะกรรมการดำเนินการคัดเลือก และแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผล ให้สำนักงาน กสทช. จัดหน่วยธุรการแยกเฉพาะเพื่อรองรับการทำงานของคณะกรรมการติดตามและประเมินผล ตามความจำเป็น

ให้คณะกรรมการติดตามประเมินผล ประชุมร่วมกับ กสทช.เพื่อกำหนดตัวชี้วัด และเกณฑ์การวัดประเมินผลเป็นประจำทุกปี โดยตัวชี้วัด และเกณฑ์การวัดประเมินผลต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนเริ่มปีงบประมาณใหม่ของทุกปี

 

5.กองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ให้มี “กองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ” เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ        ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ รวมถึงการวิจัยพัฒนาและพัฒนาบุคลากร ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง

ทุนส่วนหนึ่งให้มาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

 

6.การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงาน

            6.1องค์ประกอบกรรมการติดตามประเมินผล

            ให้คณะกรรมการสรรหาภาคประชาชนคัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามประเมินผล ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด

            ให้คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติมีอำนาจหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. กกสท. กกทค. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. แล้วรายงานผลให้ วุฒิสภา สาธารณะ และกสทช. ทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

            6.2ข้อมูลที่เปิดเผย

            (1) ผลการปฏิบัติงานของ กสทช. กกสท. กกทค. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ทั้งด้านประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ในรายละเอียดตามตัวชี้วัดและเกณฑ์การประเมินผลที่กำหนด

(2) ปัญหาและอุปสรรคในการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมประเภทต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อประชาชน

(3) คุณภาพและอัตราค่าบริการโทรคมนาคมประเภทต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อประชาชน

(4) ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค

(5) ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกองทุนตามมาตรา 46

(6) เรื่องอื่นๆ ที่เห็นสมควรรายงานให้ วุฒิสภา หรือประชาชน ทราบ

 

7.บทเฉพาะกาล

7.1ระยะเวลาแต่งตั้งกรรมการ

ให้หน่วยที่รับผิดชอบดำเนินการสรรหา กสทช.ให้เสร็จใน 120 วัน

 

8.อื่นๆ

8.1 การบริหารเงินงบประมาณกสทช.

ให้รวมรายได้ค่าธรรมเนียม และรายได้จากทรัพย์สินของกสทช.เข้าด้วยกัน เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของแต่ละปีแล้ว ส่วนที่เหลือให้นำส่งเงินเข้ารัฐ

 

บันทึกความคิดเห็นเพิ่มเติม

………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 00:00:00 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 00:00:00 มีการเปิดอ่าน 1673 ครั้ง Share

 

 

  พระราชบัญญัติคำสั่งเรียก

 


 

 

 


logo-clicksenate

จำนวนคนเข้าเยี่ยมชม
00739802

กำลังเยี่ยมชมขณะนี้
15 คน