สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการบริหารกิจการฮาลาล พ.ศ. ....

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการบริหารกิจการฮาลาล พ.ศ. ....

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการบริหารกิจการฮาลาล พ.ศ. ....

 

คณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านมาตรฐานฮาลาล

 

ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ

 

และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา

 

 

ความเป็นมา

 

ร่างพระราชบัญญัติการบริหารกิจการฮาลาล พ.ศ. .... เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติซึ่งมุ่งให้ความคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล  โดยการกำหนดการแบ่งอำนาจการดำเนินงานระหว่างองค์กรที่ทำหน้าที่ในการให้การรับรองมาตรฐานฮาลาล และองค์กรตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลที่ชัดเจน รวมทั้งได้กำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลและเครื่องหมายรับรองมาตรฐานฮาลาลของประเทศไทยมีการบูรณาการไปสู่ทิศทางที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับในสังคมผู้บริโภค ตลอดจนทำให้บทบาทและภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากล

 

ก่อนที่จะมีการพิจารณายกร่างพระราชบัญญัตินี้  กิจการฮาลาลของประเทศไทยได้ดำเนินการอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ ๒ องค์กรคือ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และได้กำหนดให้มีคณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยหรือคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัด ทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการรับรองฮาลาลกำหนดมาตรการ แนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบรับรองฮาลาล  ซึ่งจากภาพรวมดังกล่าว จะเห็นว่าในปัจจุบันกิจการด้านฮาลาลของประเทศไทย มีองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการรับรองระบบงานฮาลาล  องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรับรองและกำหนดมาตรฐานในเรื่องฮาลาลอยู่หลายองค์กร         ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้การดำเนินงานด้านฮาลาลของประเทศไทยขาดความเป็นเอกภาพตลอดจนขาดความเป็นอิสระในการบริหารงาน

 

ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการออกเครื่องหมายรับรองฮาลาลเป็นไปในทิศทางและมีมาตรฐานเดียวกัน จึงมีแนวคิดให้มีการแยก องค์กรรับรองระบบงานฮาลาล (Accreditation Body–AB)  ซึ่งทำหน้าที่หลักด้านการพิจารณาให้การรับรองระบบงานฮาลาลแก่องค์กรตรวจและรับรองฮาลาล และกิจการบริหารอื่นๆ ที่เป็นการวางระบบการบริหารกิจการฮาลาลของประเทศ และองค์กรที่ตรวจและรับรองฮาลาล (Certification Body–CB) อกจากกันอย่างชัดเจน  โดยร่างพระราชบัญญัตินี้แบ่งออกเป็น ๑๑ หมวด ๑๐๕ มาตรา มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ

สาระสำคัญ

 

ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้  ได้กล่าวถึงนิยามศัพท์ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น ๒๑ คำ โดยเรียงลำดับความสำคัญ คือ

 

“ฮาลาล” หมายความว่า สิ่งที่บัญญัติศาสนาอิสลามได้อนุญาตให้มุสลิมบริโภคหรืออุปโภคได้  

 

“กิจการฮาลาล”  หมายความว่า  การดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการให้คำรับรองระบบงานฮาลาล การควบคุมมาตรฐานฮาลาล  การตรวจและการรับรองฮาลาล รวมทั้งการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายฮาลาล แก่ผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด 

 

“การรับรองฮาลาล”  หมายความว่า  การให้การรับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ฮาลาลหรือได้ถูกผลิตขึ้นจากสิ่งที่ฮาลาลทั้งหมดโดยเป็นไปตามบัญญัติศาสนาอิสลาม

 

“ผลิตภัณฑ์”   หมายความว่า  สิ่งซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือผลิตขึ้นเพื่อใช้สำหรับการอุปโภคหรือบริโภค ซึ่งได้แก่  อาหาร  เครื่องดื่ม  เครื่องสำอางและอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด  

 

“การผลิต”  หมายความว่า  การทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพวัตถุดิบให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และให้หมายความรวมถึงการเปลี่ยนรูป  การดัดแปลง  การคัดเลือก หรือการแบ่งบรรจุวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย

 

“การให้บริการ”  หมายความว่า  การรับจัดทำการงาน  การให้สิทธิใดๆ  การให้ใช้หรือให้ประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการใด ๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อื่น แต่ไม่รวมถึงการจ้างแรงงาน

 

“ผู้ประกอบการ”  หมายความว่า  ผู้จำหน่าย ผู้ผลิตเพื่อจำหน่าย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตหรือจำหน่าย  หรือผู้ซื้อเพื่อผลิตหรือจำหน่ายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการในธุรกิจ

“ผู้บริโภค”  หมายความว่า  ผู้ซื้อหรือได้รับบริการจากผู้ประกอบการ หรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอ หรือการชักชวนจากผู้ประกอบการเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ  และให้หมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้า หรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบการโดยชอบแม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม

 

“ผู้ตรวจรับรองฮาลาล”  หมายความว่า  ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่ตรวจและรับรองฮาลาลจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้         

 

“คณะที่ปรึกษาระบบงานฮาลาล”  หมายความว่า  นิติบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับระบบงานฮาลาลตามพระราชบัญญัตินี้     

 

“ที่ปรึกษาฮาลาล”  หมายความว่า  ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลหรือการให้บริการฮาลาล แก่โรงงานหรือสถานประกอบการ

 

“ผู้เชือดสัตว์”  หมายความว่า  ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่เชือดสัตว์หรือควบคุมการเชือดสัตว์ตามพระราชบัญญัตินี้       

 

“ผู้ตรวจการฮาลาล”  หมายความว่า  ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจการฮาลาลตามความในหมวด ๕     

 

“เครื่องหมายรับรองฮาลาล” หมายความว่า เครื่องหมายรับรองฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายรับรองไว้ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า

 

“คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” หมายความว่า คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม

 

“คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด” หมายความว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม

 

“คณะกรรมการ” หมายความว่า  คณะกรรมการควบคุมมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ

 

“กองทุน” หมายความว่า  กองทุนพัฒนามาตรฐานฮาลาล

 

“สำนักงาน”  หมายความว่า  สำนักงานมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ

 

“เลขาธิการ” หมายความว่า  เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ

 

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

 

รายละเอียดของพระราชบัญญัติสรุปได้ดังนี้

 

หมวด ๑      บททั่วไป (มาตรา ๖-๘)

 

เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติโดยมุ่งประเด็นการให้ความคุ้มครองต่อผู้บริโภคฮาลาล ให้ได้รับสินค้าและบริการที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม

 

 

 

หมวด ๒      การรับรองระบบงานฮาลาลและการควบคุมมาตรฐานฮาลาล    (มาตรา ๙-๑๖)

 

กำหนดให้มีการแยกองค์กรรับรองระบบงานฮาลาลและองค์กรที่ตรวจรับรองฮาลาลอย่างชัดเจน โดยการตั้ง “คณะกรรมการควบคุมมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ” ให้เป็นองค์กรให้การรับรอง (Accreditation Body–AB)  โดยมีองค์ประกอบดังนี้ จุฬาราชมนตรีหรือผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งจุฬาราชมนตรีมอบหมายเป็นประธาน เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นรองประธาน  ตัวแทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจำนวนสองคน ตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจำนวนสี่คน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้แทน  เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือผู้แทน  เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือผู้แทน  ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติหรือผู้แทน  ผู้ทรงคุณวุฒิของจุฬาราชมนตรีจำนวนสามคน  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐาน  ด้านบริหารงาน และด้านกฎหมายซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งด้านละหนึ่งคนเป็นกรรมการ

 

คณะกรรมการควบคุมมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่หลักเกี่ยวกับด้านการพิจารณาให้การรับรองระบบงาน  ฮาลาลแก่องค์กรตรวจและรับรองฮาลาล และกิจการบริหารอื่นๆ  ที่เป็นการวางระบบการบริหารกิจการฮาลาลของประเทศ

 

 

หมวด ๓      องค์กรตรวจและรับรองฮาลาลและการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล (มาตรา ๑๗-๓๐)

 

กำหนดหลักเกณฑ์การจัดระบบองค์กรตรวจและรับรองฮาลาล (Certification Body–CB) ซึ่งทำหน้าที่อยู่เดิม คือ “คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยหรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด” ให้ดำเนินงานตามมาตรฐานและแนวทางการตรวจรับรองผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการที่คณะกรรมการควบคุมมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติประกาศกำหนด

 

 

หมวด ๔      คณะที่ปรึกษาระบบงานฮาลาล (มาตรา ๓๑-๓๗)

 

กำหนดวิธีการได้มาและคุณสมบัติของ “คณะที่ปรึกษาระบบางานฮาลาล”  ซึ่งจะปฎิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการควบคุมมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติมอบหมาย ได้แก่ การวางแผนและปรับปรุงสถานที่หรือระบบการผลิตของโรงงานหรือสถานประกอบการซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องจัดให้มีคณะที่ปรึกษาระบบงานฮาลาล รวมทั้งการช่วยจัดทำร่างคู่มือหรือแนวทางการผลิตผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการฮาลาล ก่อนที่จะดำเนินการยื่นคำขอให้มีการตรวจและรับรองฮาลาลแก่ผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการของโรงงานหรือสถานประกอบการ

 

 

หมวด ๕      การควบคุมและกำกับดูแล (มาตรา ๓๘-๔๘)

 

กำหนดมาตรการควบคุมและกำกับดูแล โดยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบรับรองฮาลาล หรือใบอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลต้องแต่งตั้งที่ปรึกษาฮาลาลประจำโรงงานหรือสถานประกอบการขึ้น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการผลิตหรือการให้บริการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการควบคุมมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติกำหนด รวมทั้งทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่โรงงานหรือสถานประกอบการ โดยที่ปรึกษาฮาลาลประจำโรงงานหรือสถานประกอบการนั้น จะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือองค์กรตรวจและรับรองฮาลาลที่มีเขตความรับผิดชอบ

 

 

หมวด ๖      สำนักงานมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ (มาตรา ๔๙-๕๙)

 

กำหนดให้มี “สำนักงานมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ” มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น  โดยจะมีหน้าที่ทำหน้าที่เป็นองค์กรซึ่งจะดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายและแผนงานของคณะกรรมการควบคุมมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติควบคุมมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ รวมถึงการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยและการพัฒนาบุคคลากรด้านกิจการฮาลาล หรือตามที่คณะกรรมการควบคุมมาตรฐาน  ฮาลาลแห่งชาติมอบหมาย

 

 

หมวด ๗      เลขาธิการ (มาตรา ๖๐-๖๖)

 

กำหนดคุณสมบัติของผู้ทำหน้าที่ “เลขาธิการและรองเลขาธิการ” ของสำนักงานมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ

 

 

หมวด ๘      กองทุนพัฒนามาตรฐานฮาลาล (มาตรา ๖๗-๗๓)

 

กำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนามาตรฐานฮาลาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินงานของคณะกรรมการและสำนักงาน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาองค์กร ระบบงาน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกิจการฮาลาล

 

 

หมวด ๙      มาตรการทางปกครอง (มาตรา ๗๔-๗๖)

 

กำหนดให้คณะกรรมการควบคุมมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ ตามร่างพระราชบัญญัตินี้   มีอำนาจในการดำเนินการทางปกครองหรือกำหนดมาตรการใดๆ ต่อผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่กำหนด

 

 

หมวด ๑๐    องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ฮาลาล (มาตรา ๗๗-๘๑)

 

เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์ฮาลาล โดยการจัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ฮาลาลหรืออาสาสมัครเข้ามาทำหน้าที่ในการสดส่องดูลความถูกต้องของฮาลาล

 

 

หมวด ๑๑    บทกำหนดโทษ (มาตรา ๘๒-๑๐๓)

 

เป็นการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายหรือผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่กำหนด

 

 

บทเฉพาะกาล   (มาตรา ๑๐๔-๑๐๕)

 

บทเฉพาะกาลได้รับรอให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ  และคำสั่งในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจรับรองฮาลาล หรือการกำหนดมาตรฐานฮาลาลที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ให้มีผลใช้บังคับโดยอนุโลมจนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้  อีกทั้งยังรับรองการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจรับรองฮาลาล ที่ปรึกษาประจำโรงงานหรือสถานประกอบการ หรือผู้เชือดสัตว์ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ แต่จะต้องยื่นหนังสือแสดงความจำนงเพื่อเข้ารับการอบรมเป็นผู้ตรวจรับรองฮาลาล ที่ปรึกษาประจำโรงงานหรือสถานประกอบการ หรือผู้เชือดสัตว์ตามพระราชบัญญัตินี้ ต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

 

-------------------------------

 

 


ข้อมูลเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 00:00:00 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 17:45:22 มีการเปิดอ่าน 2241 ครั้ง Share

 

 

  พระราชบัญญัติคำสั่งเรียก

 


 

 

 


logo-clicksenate

จำนวนคนเข้าเยี่ยมชม
00739798

กำลังเยี่ยมชมขณะนี้
11 คน