เวทีวุฒิสภาประชาชน ครั้งที่ ๒ “ข้าวไทยพุ่งแรง...รุ่งโรจน์หรือหายนะชาวนาไทย”

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้จัดเวทีวุฒิสภาประชาชน ครั้งที่ ๒ เรื่อง “ข้าวไทยพุ่งแรง...รุ่งโรจน์หรือหายนะชาวนาไทย” วันจันทร์ที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๑ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๔.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข ๓๐๖ – ๓๐๗ ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๒

 

              คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน  สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้จัดเวทีวุฒิสภาประชาชน ครั้งที่ ๒เรื่อง “ข้าวไทยพุ่งแรง...รุ่งโรจน์หรือหายนะชาวนาไทย” เมื่อวันจันทร์ที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๑ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

๑. เพื่อเป็นเวทีให้วุฒิสภาสามารถรับฟังและเข้าถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้บริโภค

๒. เพื่อเป็นเวทีในการเสนอแนะปัญหาที่สำคัญเร่งด่วน และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนผู้บริโภค

๓. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสานร่วมมือระหว่างหน่วยงาน องค์กรและประชาชน ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับการบริโภค

๔. ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

 

     โดยการจัดครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเวทีเสวนา ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภา อธิบดีกรมการค้าภายใน ตัวแทนภาควิชาการ ตัวแทนชาวนา นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว สมาคมผู้ส่งออกข้าว สมาคมโรงสีข้าว ประธานที่ปรึกษาสมาคมโรงสีข้าวไทย ตัวแทนภาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากปัญหาการบริโภคในปัจจุบัน สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไปจำนวน ๑๒๐ คน

 

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ปริมาณสำรองข้าวของโลกเริ่มมีทิศทางปรับลดลงมาเป็นลำดับ จากปี พ.ศ.๒๕๔๔ ที่มีอยู่ ๑๔๗ ล้านตัน มาถึงปัจจุบันซึ่งคงเหลืออยู่ที่ระดับราว ๗๐ ล้านตันเศษ     ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมือง ภาระค่าใช้จ่ายในการผลิต พื้นที่การเพาะปลูกข้าวซึ่งมีแนวโน้มถูกจำกัดจากการเข้ามาแย่งพื้นที่เพาะปลูกของพืชพลังงาน ตลอดจนสภาพภูมิอากาศ ที่แปรปรวนในหลายประเทศที่ทำให้ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติในวงกว้าง ขณะที่ปริมาณการบริโภคข้าวยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ การปรับขึ้นของราคาข้าวในช่วงปี ๒๕๔๕-๒๕๕๐ ของประเทศไทย มีรูปแบบการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งเข้าสู่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ กลับเกิดปรากฏการณ์ราคาข้าวที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วและอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม  แต่กระนั้นก็เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกอาจจะได้รับประโยชน์ในลักษณะของการได้มาแบบไม่คุ้มเสีย ในเมื่อชาวนาไทยยังต้องรับภาระจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นกว่าเท่าตัว ทั้งราคาปุ๋ย ค่าเช่าที่นา และการที่ผู้บริโภคชาวไทยจำเป็นต้องซื้อข้าวแพงขึ้น ในขณะที่รายได้ซึ่งได้รับเพิ่มต่อเดือนนั้นกลับอยู่ในอัตราที่ต่ำเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับรายจ่ายต่างๆ ที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เพื่อเป็นการสะท้อนถึงสถานการณ์ราคาข้าวของประเทศไทยในปัจจุบันและข้อเท็จจริงว่าชาวนาไทยหรือใครที่เป็นผู้ซึ่งได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ราคาข้าวแพงอย่างแท้จริง ตลอดจนสภาพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ  จึงสมควรที่จะมีเวทีที่เปิดโอกาสให้หน่วยงาน องค์กรและเครือข่ายประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับปัญหา พร้อมทั้งหาข้อสรุปแนวทางเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการแก้ไขที่เหมาะสม เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในอันที่จะสามารถพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป (รายละเอียดสามารถดาวน์โหลดได้)

 


ข้อมูลเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 00:00:00 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 00:00:00 มีการเปิดอ่าน 1661 ครั้ง Share

 

 

  พระราชบัญญัติคำสั่งเรียก

 


 

 

 


logo-clicksenate

จำนวนคนเข้าเยี่ยมชม
00738938

กำลังเยี่ยมชมขณะนี้
2 คน