พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ : ใครได้ใครเสีย

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้มีการติดตามรายละเอียดและความคืบหน้าของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ....

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ : ใครได้ใครเสีย

 

 

 

จากการที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ในวาระที่หนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยมีคะแนนเห็นชอบ ๒๒๙ เสียง ไม่เห็นชอบ ๘๕ เสียง และไม่ลงคะแนน ๗ เสียง สำหรับเหตุผลในการตราร่างพระราชบัญญัติฯ คือ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะเมื่อมีการชุมนุมสาธารณะ 

 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ก็ได้มีการติดตามเพื่อศึกษารายละเอียดอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การติดตาม ตรวจสอบกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยมุ่งเน้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติรับรองไว้ โดยเฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคมตามมาตรา ๖๓ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” และวรรคสอง “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะและเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก”

 

ซึ่งจากการศึกษาร่างพระราชบัญญัติฯ ประกอบกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าว ในส่วนของคณะกรรมาธิการฯ มีข้อคิดเห็นและข้อสังเกต ดังนี้

 

ประการแรก การชุมนุมถือว่าเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของประชาชน ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ จึงให้ความสำคัญกับประเด็นของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ในแง่ที่จะต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๓ ที่มุ่งส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ กับกรณีของการพิจารณาให้มีกฎหมายชุมนุมสาธารณะว่าจะไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ หรือลิดรอนสิทธิของประชาชนในการใช้เสรีภาพดังกล่าวหรือไม่

 

 ประการที่สอง การชุมมีอยู่หลายลักษณะแต่การชุมนุมที่สำคัญ ได้แก่ การชุมนุมเพื่อใช้สิทธิในทางการเมือง เป็นสิทธิในการชุมนุมสาธารณะที่จำเป็นต่อพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย  หากมีการควบคุมการชุมนุมโดยกฎหมายแล้ว ก็ควรต้องพิจารณาด้วยว่าจะไปกระทบต่อพัฒนาการการใช้เสรีภาพทางการเมืองของประชาชน รวมทั้งไปขัดขวางกระบวนการในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนหรือไม่ อย่างไร

 

ประการที่สาม ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ได้กำหนดเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อนจัดให้มีการชุมนุม โดยประชาชนต้องมีหนังสือแจ้งการชุมนุมไปยังหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุม หรือบุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศให้เป็นผู้มีหน้าที่รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุม ไม่น้อยกว่า ๗๒ ชั่วโมง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าว จะถือว่าเป็นการเพิ่มภาระความรับผิดชอบให้กับประชาชนที่ต้องการใช้สิทธิในการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายอันถือเป็นการกีดกันมิให้มีการชุมนุมเกิดขึ้นหรือไม่

 

ประการที่สี่ ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ควรมีการพิจารณาให้ความสนใจเกี่ยวกับการจัดเตรียมสถานที่สำหรับการชุมนุม ทั้งที่การมีสถานที่เพื่อการชุมนุมเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การใช้สิทธิในการชุมนุมสาธารณะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ลดความวุ่นวายและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม

 

 ดังนั้น หากพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นของการมีร่างพระราชบัญญัติฯ คณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นควรให้มีการพิจารณาในส่วนของสิทธิและเสรีภาพควบคู่กันไปด้วย เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาจากพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้.

 


ข้อมูลเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 00:00:00 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 17:31:31 มีการเปิดอ่าน 2500 ครั้ง Share

 

 

  พระราชบัญญัติคำสั่งเรียก

 


 

 

 


logo-clicksenate

จำนวนคนเข้าเยี่ยมชม
00739799

กำลังเยี่ยมชมขณะนี้
12 คน