คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา จัดเสวนาเรื่อง “ประสานพันธกิจ เพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

“ประสานพันธกิจเพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
.โดย วุฒิสภาสู่ประชาคมอาเซียน เมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 เวลา 18:33 น. ·.“ประสานพันธกิจเพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

โดย คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา นำโดย นายวิทยา อินาลา รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม และประธานคณะอนุกรรมาธิการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “ประสานพันธกิจ เพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๗ เมษายน ๒๕๕๕ ณ กรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ โดยการเสวนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบถึงภารกิจ พันธกิจ การดำเนินการและความคืบหน้าของหน่วยงาน องค์กร และประสานความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ในการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการลดช่องว่างและความซ้ำซ้อนในการดำเนินการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้แทนที่รับผิดชอบตามภารกิจการดำเนินงานตามแผนภายใต้ ASEAN Economic Community (AEC) Blueprint เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและผู้แทนภาคเอกชน

การเสวนาในครั้งนี้แบ่งออกเป็น ๓ ช่วง ช่วงแรกเป็นการอธิบายความเป็นมาและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการเสวนาให้ผู้เข้าร่วมเสวนาทุกคนรับทราบ ช่วงที่สองเป็นการประชุมกลุ่มย่อยตามกลุ่มภารกิจที่สำคัญ และทบทวนบทสรุปจากการเสวนาทั้งหมด ช่วงที่สามเป็นการขอฉันทามติเกี่ยวกับปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมกลุ่มภารกิจ คณะอนุกรรมาธิการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้นำผลการระดมความคิดเห็นและนำข้อมูลทั้งหมดมาสังเคราะห์รวมกันแล้วนำเสนอในห้องเสวนาเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล พร้อมทั้งเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมการเสวนาทั้งหมดได้ปรับปรุงข้อมูลและเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม สรุปภาพรวมการเสวนาได้ ดังนี้

การดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้รับมอบหมายภารกิจให้ดำเนินงานจัดทำแผนงาน/โครงการด้าน AEC ตามเนื้อหาที่ระบุไว้ใน AEC Blueprint โดยคณะทำงานหรือผู้รับผิดชอบด้าน AEC ในหน่วยงานนั้น ๆ จะรับทราบภารกิจของตน แต่บุคลากรที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรวมไปถึงภาคเอกชนบางส่วนอาจยังไม่ทราบเกี่ยวกับภารกิจดังกล่าว ในหลายหน่วยงานได้มีการศึกษาผลกระทบของ AEC ต่อภารกิจในหน่วยงานของตน แต่ยังขาดการทำวิจัยร่วมและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ในขณะที่บางหน่วยงานมีการจัดทำยุทธศาสตร์/แผนงาน/โครงการการดำเนินงานด้าน AEC ซึ่งต่อไปจะต้องนำมาเชื่อมโยงกับแผนภาพรวมระดับประเทศ ซึ่งมีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นเจ้าภาพในการประสานงาน ส่วนใหญ่แต่ละหน่วยงานมีการเตรียมการด้าน AEC ในระดับหนึ่งแล้ว โดยมีการตั้งคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบภารกิจดังกล่าวโดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานของคณะทำงานเหล่านี้ยังขาดทิศทาง ขาดเป้าหมาย ขาดความมุ่งมั่นตั้งใจ ขาดโครงสร้าง ขาดคนและขาดงบประมาณสนับสนุน หลายหน่วยงานมีการแก้ไข ยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ส่วนใหญ่จะแก้ไขเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของตนไม่ได้มองภาพรวมทั้งระบบ บางหน่วยงานได้เริ่มทำโครงการนำร่องที่สำคัญเกี่ยวกับ AEC ไปบ้างแล้ว พร้อมทั้งมีมาตรการบางส่วนในการส่งเสริมและให้ความรู้ภาคเอกชน มีการจัดสัมมนาและประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นระยะ แม้ภารกิจเกี่ยวกับ AEC ที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้รับจะค่อนข้างสอดคล้องกับภารกิจดั้งเดิม แต่ก็เป็นการขยายขอบเขตของงานที่ต้องทำ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ มีงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น และภารกิจที่แต่ละหน่วยงานทำอยู่อาจมีการคาบเกี่ยวหรือคล้ายคลึงกันบ้าง แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นการซ้ำซ้อน แต่เป็นการเกื้อกูลกันมากกว่า

ปัญหาและอุปสรรค การดำเนินการเกี่ยวกับ AEC ยังขาดเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน ในการที่จะทำให้ประเทศไทยอยู่รอดและสามารถแข่งขันได้ หน่วยงานส่วนใหญ่จะยึด AEC Blueprint เป็นหลัก แต่ที่ไปไกลกว่านั้น (Beyond AEC Blueprint) มักจะยังไม่ได้ทำ การขาดความต่อเนื่องของบุคลากรและการขาดผู้รับผิดชอบอย่างจริงจัง การทำงานยังขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ทั้งในเรื่องความรู้ ข้อมูล บุคลากร การทำงานและงบประมาณ ข้อกฎหมายและระเบียบที่ล้าหลังส่วนใหญ่เป็นข้อห้าม กลายเป็นข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถได้ประโยชน์จากการร่วมเป็น AEC นอกจากนั้น ขั้นตอนในการออกกฎหมายของไทยก็ค่อนข้างช้า ทำให้การปรับกฎหมายให้เข้ากับบริบทใหม่ ๆ ไม่ทัน ข้อเจรจาหรือข้อผูกพันต่าง ๆ มีความซับซ้อน ทำให้ภาคเอกชนไม่ค่อยเข้าใจ อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ ไว้สำหรับเปรียบเทียบและเป็นกรณีศึกษาน้อย ในบางเรื่องหน่วยงานราชการก็ไม่ทราบว่า AEC จะส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนอย่างไร รวมถึงข้อจำกัดด้านบุลากร โดยปกติแล้วหน่วยงานต่าง ๆ จะมีภารกิจหลักของตนอยู่แล้ว การที่ต้องดำเนินงานด้าน AEC จึงเป็นการขยายขอบเขตของภารกิจเดิมที่มีอยู่ เป็นเหตุให้ไม่สามารถพุ่งเป้าไปที่การดำเนินงานด้าน AEC ได้อย่างเต็มที่ เพราะบุคลากรที่มีอยู่เดิมก็มีจำนวนจำกัด

ข้อเสนอแนะ ควรมีเจ้าภาพที่ดูแลติดตามเรื่อง AEC ในระดับประเทศและมีเจ้าภาพส่วนย่อยเป็นเรื่อง ๆ เช่น เรื่องการขนส่งและเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ ควรมีแผนแม่บทระดับประเทศที่เกี่ยวข้องและศูนย์กลางของข้อมูลเกี่ยวกับ AEC สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่น นักวิชาการและผู้ประกอบการที่มีความรู้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งในเรื่องกระบวนการทำงาน ข้อมูล ความรู้ บุคลากรและงบประมาณ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณได้ส่วนหนึ่ง ควรมีการศึกษาและปรับปรุงโครงสร้างของภาครัฐและเอกชนไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคไร้พรมแดน ต้องมีการปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวกับ AEC ให้มีความกระชับ นอกจากนี้ ควรมีมาตรการส่งเสริมให้นักลงทุนที่มีความสามารถไปลงทุนต่างประเทศ พร้อมทั้งศึกษาปัจจัยที่จะดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ส่วนภาคการเมืองควรให้ความสำคัญอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนได้รับทราบ การประชาสัมพันธ์หรือให้ข้อมูลควรมีการเจาะเฉพาะกลุ่มให้มากขึ้น โดยอาจใช้การยกกรณีตัวอย่างซึ่งจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจข้อมูลได้ง่ายขึ้น

       ปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข การเสวนาครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับประเทศไทยในการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมั่นคง ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้เข้าร่วมเสวนาทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จำนวนมากทั้งประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะที่สำคัญ และเป็นการยากที่จะแก้ไขปรับปรุงให้ได้ทั้งหมดในเร็ววัน ดังนั้น คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงได้ขอฉันทามติจากที่ประชุมเพื่อกำหนดปัญหาสำคัญเร่งด่วน ที่ต้องรีบแก้ไข และที่ประชุมได้สรุปเป็นปัญหาสำคัญ ๕ ข้อ ดังนี้

๑) ขาดกฎหมายและระเบียบที่รองรับ

๒) ขาดระบบการประสานงาน เชื่อมโยงข้อมูล ลดขั้นตอน และบูรณาการการทำงานที่เอื้อต่อ AEC

๓) ขาดแผนยุทธศาสตร์ที่ดี และไม่มีแผนปฏิบัติการที่จะทำให้แผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้สำเร็จ

๔) ขาดการแปลงพันธกรณีของ AEC เพื่อสื่อสารให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้าใจ

๕) ขาดการสื่อสารข้อมูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเฉพาะกลุ่ม

ปัญหาทั้ง ๕ ข้อนี้ จะเป็นปัญหาตั้งต้นที่ตัวแทนของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องร่วมกันขบคิดและหาแนวทางแก้ไขเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไป

 

.


ข้อมูลเมื่อวันที่ 00:00:00 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 10:54:34 มีการเปิดอ่าน 851 ครั้ง

หน้าหลัก ID:79

การไปเยือนประเทศสมาชิกอาเซียน

การรับรองคณะจากประเทศสมาชิกอาเซียน

ข้อมูลประเทศสมาชิกอาเซียน

ASEAN+3

 


จำนวนคนเข้าเยี่ยมชม
00229271