คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา จัดสัมมนา เรื่อง “เดินหน้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี ๒๕๕๘ : การเตรียมความพร้อมและความร่วมมือของผู้หญิงอาเซียน

เดินหน้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี ๒๕๕๘ : การเตรียมความพร้อมและความร่วมมือของผู้หญิงอาเซียน
โดย วุฒิสภาสู่ประชาคมอาเซียน

"One Vision, One Identity, One Community"

"หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม" พันธกิจหนึ่งเดียวที่บ่งบอกถึงความปรารถนาและเจตจำนงร่วมกัน ในอันที่จะดำรงอยู่ภายใต้สันติภาพ ความมั่นคงและความมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ ตามหลักปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ซึ่งประกอบด้วย ๓ เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community–ASC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) การที่จะเข้าสู่ผลเพื่อให้บรรลุความเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากแรงเสริมสำคัญที่เกิดจากบทบาท ความสามารถ และศักยภาพของสตรีในอันที่จะพัฒนาความร่วมมือ กระชับความสัมพันธ์ เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับภูมิภาค แล้วสำหรับประเทศไทย? ได้เตรียมความพร้อมแล้วหรือยังที่จะก้าวเข้าสู่การเป็น “ประชาคมอาเซียน”

ด้วยเหตุนี้ คณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย จึงได้จัดสัมมนา เรื่อง “เดินหน้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี ๒๕๕๘ : การเตรียมความพร้อมและความร่วมมือของผู้หญิงอาเซียน” ขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ ณ ห้องรับรอง ๑-๒ อาคารรัฐสภา ๒ โดยมี นางกีระณา สุมาวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนา หม่อมหลวงปรียพรรณ ศรีธวัช รองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ เป็นผู้กล่าวรายงาน ร่วมด้วยสมาชิกวุฒิสภา ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ สื่อมวลชน และสาธารณชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความสำคัญกับข้อตกลงและพันธกรณีตามกฎบัตรอาเซียนว่าด้วยเรื่องการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่จะมีผลอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ การแลกเปลี่ยนความรู้เชิงนโยบายในเรื่อง การเตรียมความพร้อมด้านบทบาท ศักยภาพ สถานภาพ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะส่งผลต่อสตรีของอาเซียน

สำหรับจุดเด่นของการสัมมนาครั้งนี้ อยู่ที่การเปิดเวทีอภิปรายในหัวข้อเรื่อง “ปัญหาและโอกาสความพร้อมของสตรีสู่ประชาคมอาเซียน ปี ๒๕๕๘” โดยวิทยากรซึ่งเป็นผู้นำสตรีและนักการเมืองสตรีในภูมิภาคอาเซียน และมี ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ สาระสำคัญนั้นสามารถสรุปได้ดังนี้

ดร.นลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บทบาทและศักยภาพของผู้หญิงจะทำให้โครงสร้างของ AEC มีความเข้มแข็งมากขึ้น ปัจจุบันเห็นได้จากผู้หญิงหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีหน้าที่เด่นชัดในแวดวงสังคมและการเมือง จนถึงขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดในการบริหารประเทศ ในเรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันทางด้านเพศ ผู้หญิงได้รับโอกาสและการยอมรับให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นมากขึ้น สิ่งที่ต้องการเน้นเป็นสำคัญ คือ เรื่องการปกป้องพิทักษ์สิทธิของผู้หญิง การให้อำนาจตัดสินใจเพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้หญิงให้เป็นผู้นำที่ดี มีกำลังต่อสู้และพร้อมรับปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ รวมถึงเร่งผลักดันให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น

Mrs. Jaslyn Go, Singapore Democratic Party, Singapore กล่าวว่า การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงและชายในสิงคโปร์ จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิงคโปร์ยังขาดผู้นำที่เป็นผู้หญิง มีเพียง ๒๐% เท่านั้นที่ทำหน้าที่ในรัฐสภา และเป็นเรื่องยากมากที่ผู้หญิงจะได้รับการเลือกตั้งหรือเข้าไปทำหน้าที่ทางการเมือง เรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มความเป็นผู้นำสตรีให้มาก ขณะเดียวกันก็ต้องลดการเลือกปฏิบัติ ขจัดการกีดกันทางเพศ ลดการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ต้องให้สิทธิคุ้มครองผู้หญิงในทุกรูปแบบ ซึ่งหากมองเปรียบเทียบกับภาคธุรกิจแล้ว ผู้หญิงส่วนใหญ่ของสิงคโปร์ เลือกที่จะประสบความสำเร็จในภาคเอกชนมากกว่า

Ms. Chia Ting Ting, Chief of Young Women Wing, Party Gerakan Rakyat, Malaysia กล่าวว่า ปัญหาของผู้หญิงในภูมิภาคอาเซียน คือ ไม่ได้รับการปฏิบัติที่       เท่าเทียมกันกับผู้ชาย ทั้งนี้ เป็นเพราะถูกจำกัดหรือผูกมัดตัวเองด้วยศาสนา วัฒนธรรม และค่านิยม การที่จะเห็นผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองได้ ภูมิหลังของคนเหล่านั้นอาจมาจากพื้นฐานครอบครัวที่เป็นนักการเมือง มีฐานะดี มีความสามารถพร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมในด้านการศึกษา แต่ขณะเดียวกันผู้หญิงส่วนใหญ่ในชนบทและบางส่วนของเมืองมีฐานะยากจน ไม่ได้รับการศึกษาตามความเหมาะสม ดังนั้น เห็นว่าทุกประเทศควรเร่งแก้ปัญหาด้านการศึกษา วางรากฐานเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบเสียก่อน

Ms. Nan Wah Nu, Member of Parliament, Democratic Party, Myanmar กล่าวว่า พม่าส่วนใหญ่จะถูกปกครองโดยผู้ชายเป็นหลัก ผู้หญิงมีหน้าที่เป็นเพียงแม่บ้าน ดูแลลูก ดูแลพ่อแม่เท่านั้น การที่จะให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาสูงเป็นสิ่งจำเป็น ต้องสร้างความตระหนักรู้ในการที่จะลุกขึ้นมามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนตั้งแต่ระดับรากหญ้า และเห็นว่าสื่อมวลชนเป็น    ตัวแปรสำคัญในการกระจายข้อมูลความรู้ เสริมสร้างบทบาทของผู้หญิงในสังคม สำหรับความร่วมมือกับอาเซียน ถ้าหากว่าทุกประเทศได้ร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยึดมั่นในความเชื่อที่ว่าต้องกระทำอย่างต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ อาจทำให้ผู้นำฝ่ายปกครองในพม่าหันมาให้ความสนใจต่อบทบาท สิทธิของสตรีภายในประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรอีกหลายท่านที่ได้ร่วมวิเคราะห์พื้นฐานสภาพปัญหาของแต่ละประเทศ รวมถึงได้ให้แนวทางแก้ไขไว้เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ในโอกาสนี้ ทางคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา จะได้ทำการรวบรวมผลการสัมมนาดังกล่าว นำเสนอต่อภาคราชการ องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้รัฐได้เตรียมความพร้อมในการเรียนรู้เรื่องประชาคมอาเซียน รู้จักประเทศสมาชิก ส่งเสริมเรื่องภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้เป็นภาษาหลักในการสื่อสารในประชาคมอาเซียน การพัฒนาแรงงานให้ได้มาตรฐาน เพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ให้ก้าวทันต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

Gallery

เดินหน้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี ๒๕๕๘ : การเตรียมความพร้อมและความร่วมมือของผู้หญิงอาเซียน
เดินหน้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี ๒๕๕๘ : การเตรียมความพร้อมและความร่วมมือของผู้หญิงอาเซียน
เดินหน้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี ๒๕๕๘ : การเตรียมความพร้อมและความร่วมมือของผู้หญิงอาเซียน
เดินหน้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี ๒๕๕๘ : การเตรียมความพร้อมและความร่วมมือของผู้หญิงอาเซียน

ข้อมูลเมื่อวันที่ 00:00:00 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 13:41:11 มีการเปิดอ่าน 879 ครั้ง

หน้าหลัก ID:79

การไปเยือนประเทศสมาชิกอาเซียน

การรับรองคณะจากประเทศสมาชิกอาเซียน

ข้อมูลประเทศสมาชิกอาเซียน

ASEAN+3

 


จำนวนคนเข้าเยี่ยมชม
00229271