เสวนา เรื่อง “ประสานพันธกิจเพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจการพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา
นำโดยนายวิทยา อินาลา รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม และประธานคณะอนุกรรมาธิการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
เสวนาเรื่อง“ประสานพันธกิจ เพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๗ เมษายน ๒๕๕๕
ณ กรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่

การจัดเสวนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญประกอบด้วย
๑) เพื่อรับทราบถึงภารกิจ พันธกิจ การดำเนินการและความคืบหน้าของหน่วยงาน/องค์กร ในการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
๒) เพื่อลดช่องว่างและความซ้ำซ้อนในการดำเนินการระหว่างหน่วยงาน และ
๓) เพื่อประสานความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ เพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้แทนที่รับผิดชอบตามภารกิจการดำเนินงาน ตามแผนภายใต้ AEC Blueprint เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและผู้แทนภาคเอกชน ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้มีสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ จึงขอนำเสนอสรุปการเสวนาเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้รับทราบ
การเสวนาได้ดำเนินการเป็น ๓ ช่วง คือ
๑) อธิบายความเป็นมาและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการเสวนาให้ผู้เข้าร่วมเสวนาทุกคนรับทราบ
๒) ประชุมกลุ่มย่อยตามกลุ่มภารกิจที่สำคัญ
๓) ทบทวนบทสรุปจากการเสวนาทั้งหมดและขอฉันทามติเกี่ยวกับปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข

สรุปภาพรวมการเสวนาได้ ดังนี้
การดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน
- หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้รับมอบหมายภารกิจให้ดำเนินงานจัดทำแผนงาน/โครงการด้าน AEC ตามเนื้อหาที่ระบุไว้ใน AEC Blueprint โดยคณะทำงานหรือผู้รับผิดชอบด้าน AEC ในหน่วยงานนั้นๆ จะรับทราบภารกิจของตน แต่บุคลากรที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรวมไปถึงภาคเอกชนบางส่วนอาจยังไม่ทราบเกี่ยวกับภารกิจดังกล่าว
- ในหลายหน่วยงานได้มีการศึกษาผลกระทบของ AEC ต่อภารกิจในหน่วยงานของตน แต่ยังขาดการทำวิจัยร่วมและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
- หลายหน่วยงานมีการจัดทำยุทธศาสตร์/แผนงาน/โครงการการดำเนินงานด้าน AEC ซึ่งต่อไปจะต้องนำมาเชื่อมโยงกับแผนภาพรวมระดับประเทศ ซึ่งมีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นเจ้าภาพในการประสานงาน
- เกือบทุกหน่วยงานมีการเตรียมการด้าน AEC ในระดับหนึ่งแล้ว โดยมีการตั้งคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบภารกิจดังกล่าวโดยตรง แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วการทำงานของคณะทำงานเหล่านี้ยังขาดทิศทาง ขาดเป้าหมาย ขาดความมุ่งมั่นตั้งใจ (commitment) ขาดโครงสร้าง ขาดคนและขาดงบประมาณสนับสนุน
- หลายหน่วยงานได้มีการแก้ไข/ยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ส่วนใหญ่จะแก้ไขเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของตนไม่ได้มองภาพรวมทั้งระบบ
- หลายหน่วยงานได้เริ่มทำโครงการนำร่องสำคัญๆ เกี่ยวกับ AEC ไปบ้างแล้ว พร้อมทั้งมีมาตรการบางส่วนในการส่งเสริมและให้ความรู้ภาคเอกชน มีการจัดสัมมนาและประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นระยะ
- แม้ภารกิจเกี่ยวกับ AEC ที่หน่วยงานต่างๆ ได้รับจะค่อนข้างสอดคล้องกับภารกิจดั้งเดิม แต่ก็เป็นการขยายขอบเขตของงานที่ต้องทำ ทำให้หน่วยงานต่างๆ มีงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น และภารกิจที่แต่ละหน่วยงานทำอยู่อาจมีการคาบเกี่ยวหรือคล้ายคลึงกันบ้าง แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นการซ้ำซ้อน แต่เป็นการเกื้อกูลกันมากกว่า

ปัญหาและอุปสรรค
- การดำเนินเกี่ยวกับ AEC ยังขาดเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน ในการที่จะทำให้ประเทศไทยอยู่รอดและสามารถแข่งขันได้
- การขาดความต่อเนื่องของบุคลากรและการขาดผู้รับผิดชอบอย่างจริงจัง
- การทำงานยังขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ทั้งในเรื่องความรู้ ข้อมูล บุคลากร การทำงานและงบประมาณ
- ข้อกฎหมายและระเบียบที่ล้าหลังส่วนใหญ่เป็นข้อห้าม กลายเป็นข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถได้ประโยชน์จากการร่วมเป็น AEC นอกจากนั้นขั้นตอนในการออกกฎหมายของไทยก็ค่อนข้างช้า ทำให้การปรับกฎหมายให้เข้ากับบริบทใหม่ๆ ไม่ทัน
- ข้อเจรจาหรือข้อผูกพันต่าง ๆ มีความซับซ้อน ทำให้ภาคเอกชนไม่ค่อยเข้าใจ
- ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ไว้สำหรับเปรียบเทียบและเป็นกรณีศึกษาน้อย
- ในบางเรื่อง หน่วยงานราชการก็ไม่ทราบว่า AEC จะกระทบต่อภาคเอกชนอย่างไร
- ข้อจำกัดด้านบุลากร โดยปกติแล้วหน่วยงานต่างๆ จะมีภารกิจหลักของตนอยู่แล้ว การที่ต้องดำเนินงานด้าน AEC จึงเป็นการขยายขอบเขตของภารกิจเดิมที่อยู่เป็นเหตุให้ไม่สามารถพุ่งเป้าไปที่การดำเนินงานด้าน AEC     ได้อย่างเต็มที่ เพราะบุคลากรที่มีอยู่เดิมก็มีจำนวนจำกัดอยู่แล้ว

ข้อเสนอแนะ
- ควรมีเจ้าภาพที่ดูแลติดตามเรื่อง AEC ในระดับประเทศและมีเจ้าภาพส่วนย่อยเป็นเรื่องๆ เช่น เรื่องการขนส่งและเรื่องอิเล็กทรอนิกส์
- ควรมีแผนแม่บทระดับประเทศเกี่ยวกับ AEC
- ควรมีศูนย์กลางของข้อมูลเกี่ยวกับ AEC
- ควรคิดให้มากกว่า AEC Blueprint
- ควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือในเรื่อง AEC กับทุกภาคส่วน เช่น นักวิชาการและผู้ประกอบการที่มีความรู้
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องกระบวนการทำงาน ข้อมูล ความรู้ บุคลากรและงบประมาณ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณได้ส่วนหนึ่ง
- ควรมีการศึกษาและปรับปรุงโครงสร้างของภาครัฐและเอกชนไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุค      ไร้พรมแดน (Globalization)
- ควรใช้หลัก Give & Take กับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ไม่ใช่มุ่งจะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
- ควรปรับปรุงระบบงานที่เกี่ยวกับ AEC ให้มีความกระชับซึ่งจะต้องระบุให้ได้เสียก่อนว่างานเกี่ยวกับ AEC มีอะไรบ้าง
- ควรมีการศึกษาว่าอะไรคือสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้ส่งเสริม/ช่วยเหลือจริงๆ
- ควรมีมาตรการส่งเสริมให้นักลงทุนที่มีความสามารถไปลงทุนต่างประเทศ
- ต้องมีการศึกษาและหาปัจจัยที่จะดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศบางสาขาที่ให้ประโยชน์ต่อการพัฒนา ของประเทศ
- ภาคการเมืองควรให้ความสำคัญ จริงจังและต่อเนื่อง และอาจมีส่วนในการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนได้รับทราบ เนื่องจากนักการเมืองจะมีอิทธิพลต่อประชาชนมากกว่าราชการแต่สิ่งสำคัญคือ “ข้อมูลเหล่านั้นต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง”
- การประชาสัมพันธ์หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับ AEC ควรมีการเจาะเฉพาะกลุ่มให้มากขึ้น โดยอาจใช้รูปแบบ Show Case ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจข้อมูลได้ง่ายขึ้น

ปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข
การเสวนาครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับประเทศไทยที่ก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมั่นคง ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้เข้าร่วมเสวนา ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จำนวนมากทั้งในเรื่องประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะที่สำคัญ และเป็นการยากที่จะแก้ไขปรับปรุงให้ได้ทั้งหมดในเร็ววัน ดังนั้น คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงได้ขอฉันทามติจากที่ประชุมเพื่อกำหนดปัญหาสำคัญเร่งด่วน ที่ต้องรีบแก้ไข และที่ประชุมได้สรุปเป็นปัญหาสำคัญ ๕ ข้อ ดังนี้
๑) ขาดกฎหมายและระเบียบที่รองรับ
๒) ขาดระบบการประสานงาน เชื่อมโยงข้อมูล ลดขั้นตอน และ  
    บูรณาการ การทำงานที่เอื้อต่อ AEC
๓) ขาด Top Strategies และไม่มี Action Plan ที่จะทำให้ Top  
    Strategies สำเร็จ
๔) ขาดการแปลงพันธกรณีของ AEC เพื่อสื่อสารให้ภาคเอกชน
    และประชาชนเข้าใจ
๕) ขาดการสื่อสารข้อมูล (Communication) กับผู้มีส่วนได้ส่วน
    เสียเฉพาะกลุ่ม

ปัญหาทั้ง ๕ ข้อนี้ จะเป็นปัญหาตั้งต้นที่ตัวแทนของ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องร่วมกันขบคิดและหาแนวทางแก้ไขเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไป

Gallery

ประสานพันธกิจเพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ประสานพันธกิจเพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ประสานพันธกิจเพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ประสานพันธกิจเพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ประสานพันธกิจเพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ประสานพันธกิจเพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ประสานพันธกิจเพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ประสานพันธกิจเพื่อเดินทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ข้อมูลเมื่อวันที่ 00:00:00 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 15:37:24 มีการเปิดอ่าน 731 ครั้ง

หน้าหลัก ID:79

การไปเยือนประเทศสมาชิกอาเซียน

การรับรองคณะจากประเทศสมาชิกอาเซียน

ข้อมูลประเทศสมาชิกอาเซียน

ASEAN+3

 


จำนวนคนเข้าเยี่ยมชม
00229271