120 ปีปฏิรูปกฏหมายไทยและความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

120 ปีปฏิรูปกฏหมายไทยและความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

เมื่อปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงกิจการศาลครั้งใหญ่ โดยโปรดให้รวมศาลต่างๆ เข้าเป็นระบบเดียวกัน และจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นเป็นหน่วยงานกลางในการดูแลงานทางด้านกิจการยุติธรรมทั้งปวง เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นก้าวแรกของการปฏิรูประบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้เป็นสมัยใหม่ นำไปสู่การสร้างระบบกฎหมายไทยที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ซึ่งหากนับแต่เวลาเริ่มต้นการปฏิรูปจนถึงบัดนี้ ก็เป็นเวลาครบ 120 ปีพอดี

หากจะย้อนไปพิจารณาถึงสาเหตุของการปฏิรูปดังกล่าว ย่อมเห็นถึงปัจจัยหลายประการที่แวดล้อมอยู่ ปัจจัยสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ การคุกคามของชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยข้ออ้างว่าระบบกฎหมายและการศาลของสยามล้าหลังและไม่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การที่จาต้องยอมให้ คนชาติเหล่านั้นมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การสูญเสียอธิปไตยทางการศาล แต่หากจะพิเคราะห์ในแง่เศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าผลจากสนธิสัญญาเบาริ่งที่สยามทากับอังกฤษ (รวมทั้งที่ทากับชาติอื่นๆ) ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจไทย กล่าวคือ การยกเลิกการผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้าและการลดภาษีศุลกากรทำให้การค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วิถีการผลิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากการผลิต เพื่อยังชีพเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย ซึ่งก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราตามมา กล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยได้เคลื่อนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกนับแต่นั้นมา สถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายระบบกฎหมายไทย ซึ่งมีรากฐานอยู่บนระบบกฎหมายประเพณีและมีวิวัฒนาการสืบมาหลายร้อยปี ว่าจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ในสถานการณ์ดังกล่าว ผู้นำสยามในเวลานั้นเลือกที่จะปฏิรูประบบกฎหมายใหม่โดยยึดถือแนวทางตามแบบอย่างของชาติตะวันตก ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2435 แล้ว ก็มีการดำเนินการอื่นๆ สืบเนื่องกันมาเพื่อวางระบบและสถาบันทางกฎหมายใหม่ตามแบบอย่างชาติตะวันตก นำไปสู่การเกิดขึ้นของประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งกฎหมายที่สำคัญอื่นๆ และการปฏิรูปในครั้งนั้นนับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่เรียกได้ว่าถึงขนาด “พลิกแผ่นดิน” และผลของการดำเนินการในยุคสมัยดังกล่าวได้เป็นรากฐานสำคัญของระบบกฎหมายไทยในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ระบบกฎหมายไทยกำลังประสบกับความท้าทายครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง อันเนื่องมาจากการที่เศรษฐกิจของโลกกำลังดำเนินไปสู่ระบบการแข่งขันเสรี (Free Competition) หรือระบบเศรษฐกิจในแบบตลาด (Market Economy) ทำให้แต่ละประเทศพยายามพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของตนเอง มีการจัดตั้งองค์การการค้าโลกขึ้น (World Trade Organization, “WTO”) เพื่อทาหน้าที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่จะช่วยขับเคลื่อนกระบวนการเปิดเสรีการแข่งขันและลดอุปสรรคในทางการค้าระหว่างชาติสมาชิก และมีการเปิดเสรีทางด้านการค้าทั้งในรูปแบบความตกลงทวิภาคี (Bilateral Agreements) และพหุภาคี (Multilateral Agreements) จำนวนมาก สำหรับประเทศไทยเองเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2538 นอกจากนี้ในระดับภูมิภาค ไทยได้เข้าร่วมก่อตั้งสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510

ตลอด 45 ปีที่ผ่านมาของอาเซียน ได้มีการประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างชาติสมาชิกอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในปี พ.ศ. 2558 กำลังจะเป็นย่างก้าวสำคัญของอาเซียน คือ การเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งจะทำให้ชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางด้านเศรษฐกิจ (Regional Economic Integration) และถือเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการขยายฐานจำนวนผู้บริโภคสินค้าและบริการจาก 65 ล้านคนเป็น 600 ล้านคน รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและการลงทุนกับประเทศสมาชิกอาเซียนโดยเสรีมากขึ้น อย่างไรก็ดี โอกาสที่กล่าวถึงนั้นอาจเปลี่ยนเป็นวิกฤติได้หากไม่มีการเตรียมความพร้อมอย่างรัดกุมและรอบด้าน โดยเฉพาะในด้านกฎหมาย การปรับกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนับเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ มีกฎหมายหลายฉบับที่ประเทศไทยจะต้องแก้ไขปรับปรุงรวมถึงการบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงหลักการที่สำคัญหลายประการ เช่น กฎหมายที่ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมหลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (Nation Treatment) หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์อย่างยิ่ง (Most-Favored-Nation Treatment) ระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ระบบการขนส่งสีเขียว (Green Logistics) ระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ปัญหามลภาวะ ปัญหาภัยพิบัติ สิทธิชุมชน สิทธิเกษตรกร สิทธิมนุษยชน สิทธิของเด็กและสตรี เป็นต้น ปัญหาอีกประการหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ ปัญหาเรื่องความแตกต่างของระบบกฎหมายที่ใช้บังคับในแต่ละประเทศ ในบางประเทศใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรเช่นเดียวกับประเทศไทย (Civil law tradition) แต่บางประเทศใช้กฎหมายจารีตประเพณี (Common law system) ดังนั้น เมื่อเกิดข้อพิพาทในทางการค้าอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสมและเป็นธรรมได้

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีระบบกฎหมายที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายผู้เขียนเชื่อว่าประเทศต่างๆ ก็จะพยายามปรับกฎหมายเข้าหากัน (Harmonization of legal system) ประกอบกับการแข่งขันกันระหว่างระบบกฎหมาย (Competition between legal system) จะนำมาซึ่งหลักกฎหมายร่วมกันของอาเซียน (Common law of ASEAN) ในที่สุด นอกจากนี้ อาจจะมีการจัดตั้งศาลเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนและสภานิติบัญญัติอาเซียนเพื่อเกื้อหนุนให้ระบบกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนได้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างเป็นระบบและรวดเร็วขึ้นด้วยก็ได้ อีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องพิจารณาถึงสำหรับการเป็นประชาคมอาเซียน คือ บทบาทของสถาบันทางการศึกษาของไทยในการเตรียมนักศึกษาเพื่อรองรับตลาดแรงงานอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิชาชีพที่ผลิตบัณฑิตทางกฎหมายที่จะต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางด้านการเรียนการสอนให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีหลักสูตรที่สอดรับการตลาดแรงงานของอาเซียน การเรียนการสอนที่มุ่งเน้นแต่เฉพาะการผลิตบัณฑิตเพื่อเป็นผู้พิพากษา อัยการ นิติกรในหน่วยงานของรัฐ หรือทำงานภาคเอกชนภายในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายอย่างสูงของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิชาชีพที่จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของตนเพื่อให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ที่มา : สุรินรัตน์ แก้วทอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


ข้อมูลเมื่อวันที่ 00:00:00 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 00:00:00 มีการเปิดอ่าน 846 ครั้ง

หน้าหลัก ID:79

การไปเยือนประเทศสมาชิกอาเซียน

การรับรองคณะจากประเทศสมาชิกอาเซียน

ข้อมูลประเทศสมาชิกอาเซียน

ASEAN+3

 


จำนวนคนเข้าเยี่ยมชม
00229271