ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค”

คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค”

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2555 เวลา 09.30 นาฬิกา คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา โดยนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค” จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการรวบรวมข้อมูล...ภาพรวมในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน และรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมของวิชาชีพต่างๆ ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการมาประมวลผลกำหนดเป็นภารกิจเร่งด่วนของสมาชิกวุฒิสภาในการพิจารณากฎหมาย ที่เกี่ยวข้องและนำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้สำเร็จสอดรับกับความตกลงอาเซียนในเรื่องต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที โดยมี รศ. ดร. วิชชุดา รัตนเพียร ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวรายงาน ณ ห้องรับรอง 1 -2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ได้มีการอภิปรายเรื่อง “ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน : ปัญหาและอุปสรรค” โดยเชิญระดับหัวหน้าส่วนต่างๆ มาร่วมกันอภิปราย โดย การอภิปรายแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ภาคสินค้า ผู้อภิปรายประกอบด้วย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้กล่าวถึง “ภาพรวมความคืบหน้าในการก้าวสู่ AEC” ว่า ขณะนี้เหลือเพียงการดำเนินการในทางปฏิบัติเท่านั้น ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและการบริหารการจัดเก็บภาษี กรมศุลกากร อภิปรายเรื่อง “ความคืบหน้า Single Window” คือ   การอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการขนส่ง ให้สามารถผ่านขั้นตอนการอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องรับรองเอกสารหลักฐานพร้อมกัน ณ จุดเดียว เพื่อให้นำเข้า ส่งออกและนำสินค้าผ่านแดนได้ตามข้อกำหนด กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยแต่ละประเทศจะต้องทำ National Single Window ของประเทศตนเองก่อนจากนั้นถึงจะรวมกันเป็น ASEAN Single Window สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการเตรียมความพร้อมมาเรื่อยๆตั้งแต่ปี 2558 โดยปัจจุบันได้เริ่มโครงการนำร่องการทดสอบระบบการเชื่อมโยงข้อมูลกับประเทศต่างๆในอาเซียน โดยปัญหาและอุปสรรคมี 3 ด้านคือ 1) งบประมาณที่รัฐจะจัดสรรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการดำเนินการเชื่อมโยงระบบ 2) บุคคลากรทางด้าน ICT 3) กฎหมายและระบบที่จะรองรับการส่งข้อมูล สำหรับหัวข้อเรื่อง “ความคืบหน้าสัญญาการขนส่งผ่านแดน” อภิปรายโดย          ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการด้านพิธีสาร (เครื่องมืออย่างหนึ่งในการทำข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาหรืออนุสัญญา) ของประเทศไทยได้ดำเนินการไปเกือบเสร็จสิ้นแล้วเหลือเพียงการเชื่อมโยงภายในอาเซียนซึ่งในปัจจุบันยังหาข้อสรุปไม่ได้ ในการจัดการด้านฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ของระบบ

กลุ่มที่ 2 ภาคบริการ การเงินและการลงทุน ผู้อภิปรายประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สรุปได้ดังนี้ 

            ด้านภาคบริการ สำหรับการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน ประเทศไทยได้ดำเนินการซึ่งเป็นการสร้างความสมดุลของสิทธิประโยชน์ของคนไทย โดยมีบางสาขาการลงทุนที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาดำเนินการ โดยเฉพาะสาขาที่ประเทศไทยไม่พร้อมแข่งขัน 

            ด้านการเงิน มีการเปิดเสรีบริการทางด้านการเงินเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจหลักทรัพย์ ธนาคาร ประกันภัย รวมไปถึงธุรกิจประเภท non-bank

            ด้านการลงทุน ด้านการเปิดเสรีได้มีการเริ่มมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ แต่มีบางรายการที่ตกค้างจากการเปิดเสรีเดิม คือ แป้งจากข้าวและพืชไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การขยายและปรับปรุงพันธุ์พืช ป่าไม้และป่าปลูก ซึ่งจะมีการเปิดเสรีเฉพาะในด้านที่ประเทศไทยยังทำไม่ได้และยังขาดแคลน

กลุ่มที่ 3 ภาคแรงงานวิชาชีพ ผู้อภิปรายประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้แทนจากสภาวิชาชีพ โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้  การเตรียมความพร้อมในภาคแรงงานของไทยได้มีหลายกรมคอยดูแลและดูว่ากฎหมายใดที่ไทยเคยห้าม แล้วเราจะเปิดเสรีได้อย่างไร รวมไปถึงกฎหมายด้านประกันสังคม สำหรับมาตรฐานที่จะรองรับในการเคลื่อนย้ายคน ได้มีการตกลงกันไปแล้วใน ๗ สาขาวิชาชีพที่ต้องมีใบรับรอง แต่ประเทศไทยต้องให้การช่วยเหลือแรงงานที่มีฝีมือโดยการสร้างมาตรฐานฝีมือแรงงานขึ้น มีการออกใบรับรองเพื่อให้มีมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติขึ้นมา

กลุ่มที่ 4 ภาคความเชื่อมโยงในอาเซียน อภิปรายโดย กรมอาเซียน กล่าวถึงความคืบหน้า ASEAN Connectivity ว่า แผนงานที่อาเซียนต้องมองไปข้างหน้า และเร่งทำก่อนปี 2558 คือ การเชื่อมโยงเชิงสถาบันและกฎระเบียบ (Institutional Connectivity)        ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนย้ายสินค้าและคนที่จุดผ่านแดน รวมทั้งการตรวจสอบสินค้าและขนส่งสินค้าข้ามแดน โดยการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Physical Connectivity) เช่น เส้นทางถนน รถไฟต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มที่ 5 ภาคสังคมและวัฒนธรรม อภิปรายโดย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับความคืบหน้าด้านประชาสังคมและวัฒนธรรม การทำงานด้านนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มอาเซียนซึ่งมีความเป็นพลวัตสูงแต่ไม่มีตัววัดที่ชัดเจนโดยจะทำงานตามแผนของแต่ละสาขาที่วางไว้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการพัฒนาของเสานี้มุ่งหมายให้มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

กลุ่มที่ 6 ภาคกฎหมาย อภิปรายโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งกล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับกรอบความตกลงอาเซียน ซึ่งกฎหมายบางฉบับของไทยเราไม่ต้องแก้ไขเพียงแต่ปรับให้เข้ากับอาเซียน โดยต้องรื้อระบบกฎหมายหลักๆก่อน เนื่องจากกฎหมายที่เราใช้ในปัจจุบันทำให้เกิดปัญหาการแข่งขันกันในระหว่างประเทศ โดยกระบวนการระงับข้อพิพาท คือ ต้องมีนโยบายและผู้ชี้แจงที่ชัดเจน

สำหรับผลการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา จะได้นำข้อมูลที่ได้จากการประชุม รวมทั้งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้องเรียบเรียงและรวบรวมเพื่อจัดทำเป็นรายงานสำหรับผลักดันไปยังภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลในนามวุฒิสภา ตลอดจนผลักดันให้รัฐบาลได้รับไปดำเนินการต่อไป

Gallery

ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค
ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค
ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค
ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค
ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค
ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค
ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค
ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค
ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค
ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค
ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค
ความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค

ข้อมูลเมื่อวันที่ 00:00:00 ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2555 09:44:27 มีการเปิดอ่าน 894 ครั้ง

หน้าหลัก ID:79

การไปเยือนประเทศสมาชิกอาเซียน

การรับรองคณะจากประเทศสมาชิกอาเซียน

ข้อมูลประเทศสมาชิกอาเซียน

ASEAN+3

 


จำนวนคนเข้าเยี่ยมชม
00229271