ประวัติความเป็นมาของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

     ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ได้ออกกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา
ซึ่งได้กำหนดให้มีส่วนราชการสังกัดรัฐสภา คือ สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น โดยได้กำหนดให้
สำนักงานเลขาธิการรัฐสภามีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของรัฐสภา และรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณรัฐสภา
มีเลขาธิการรัฐสภาเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ ขึ้นตรงต่อประธานรัฐสภา และจะให้มี
รองเลขาธิการรัฐสภาเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและช่วยเลขาธิการรัฐสภาปฏิบัติราชการด้วยก็ได้
     ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๓๔ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภาได้มีการปรับปรุงกฎหมายของส่วนราชการในสังกัดรัฐสภา เพื่อให้มี
ความเหมาะสมและเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการของข้าราชการ รัฐสภาสามัญให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดย ดำริของ ฯพณฯ นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีแนวนโยบายที่จะจัดตั้ง
ส่วนราชการขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ บริหารราชการ โดยให้คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภาพิจารณา ปรับปรุง
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา และข้าราชการฝ่ายรัฐสภาให้เหมาะสม และสอดคล้องกับข้าราชการประเภทอื่นๆ
และได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยคณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา
(ฉบับที่..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ
แห่งชาติ ในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ครั้งที่ ๑๕ / ๒๕๓๕ ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการแห่งร่าง
พระราชบัญญัติ ทั้งสอง ฉบับ โดยยังคง ให้มี สำนักงาน เลขาธิการ รัฐสภาไว้เช่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในการพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้มีสมาชิกสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เสนอให้มีการพิจารณาปรับปรุงส่วนราชการสังกัดรัฐสภาซึ่งกำหนดให้มี สำนักงานเลขาธิการ วุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎรเป็นส่วนราชการสังกัดรัฐสภา โดยยุบเลิกสำนักงานเลขาธิการ รัฐสภา ข้อเสนอนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการการบริหารและการ ยุติธรรม และ ได้เสนอรายงานผลการ พิจารณาร่าง พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภาในคราว ประชุมครั้งที่ ๑๗ / ๒๕๓๕ ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๓ เห็นชอบให้ ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้
     พระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายนั้น หากจะกล่าวแล้วมีข้อสรุปในหลักสาระสำคัญบางประการดังนี้
     ให้มีส่วนราชการสังกัดรัฐสภา คือ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ส่วนราชการเหล่านี้มีฐานะเทียบเท่ากรม และเป็น นิติบุคคล สำหรับส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นหากจะจัดตั้งขึ้นก็ต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ
     ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา และบรรดาอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๘ มาเป็นของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามที่ ก.ร. กำหนดแล้วแต่กรณี
     ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๘ มาเป็นของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามที่ ก.ร. กำหนด แล้วแต่กรณี
     เพื่อให้การโอนบรรดาอำนาจหน้าที่และกิจการเป็นไปโดยเรียบร้อย ได้กำหนดให้เลขาธิการรัฐสภาและรองเลขาธิการรัฐสภาร่วมกันดำเนินการดังนี้
     (๑) แบ่งส่วนราชการภายในและกำหนดสถานที่ทำงานของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
     (๒) จัดอัตรากำลังของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
     (๓) จัดแบ่งบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ให้แก่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
     ให้เสนอผลการดำเนินการตาม (๑) (๒) และ (๓) ต่อคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภาประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๙ ตอนที่ ๓๕ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๕)
     ในคราวประชุมคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ครั้งที่ ๖/๒๕๓๕ วันพุธที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๕ ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้ง นายพินิต อารยะศิริ เป็นเลขาธิการวุฒิสภา และได้มีมติให้จัดแบ่งลูกจ้างให้แก่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาในคราวประชุม คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ครั้งที่ ๗/๒๕๓๕ วันศุกร์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๕ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในการจัดแบ่งข้าราชการให้แก่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร และมีมติอนุมัติให้กำหนดชื่อตำแหน่งในสายงาน ตำแหน่งประเภท และคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตำแหน่งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยข้าราชการรัฐสภาสามัญที่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสังกัดสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภานั้น มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๙๓ ราย ซึ่งจำนวนกรอบอัตรากำลังข้าราชการรัฐสภาสามัญของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่ ก.ร. พิจารณาอนุมัติ มีทั้งสิ้น ๓๔๒ อัตรา ลูกจ้างประจำของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มีจำนวน ๖๒ ราย จากกรอบอัตรากำลังลูกจ้างประจำที่ ก.ร. กำหนด ๗๔ อัตรา เพื่อปฏิบัติงานราชการประจำของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และมีประกาศรัฐสภาแบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบด้วยมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ประธานรัฐสภาด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา และโดยผลของประกาศรัฐสภาฉบับนี้ ข้อ ๑ ได้กำหนดให้ประกาศรัฐสภามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๙๓ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๕) จึงถือว่าสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ตั้งขึ้นในวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕

คณะกรรมการบริหารความรู้ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา